ลิ้งค์เชื่อมต่อ

3 นักบินอวกาศจีนเดินทางถึงสถานีอวกาศจีนที่กำลังก่อสร้างแล้ว


Astronauts Nie Haisheng (R), Liu Boming (C) and Tang Hongbo wave during a departure ceremony before boarding the Shenzhou-12 spacecraft before lift off on a Long March-2F carrier rocket at the Jiuquan Satellite Launch Centre in the Gobi desert in northwest China on June 17, 2021.
Astronauts Nie Haisheng (R), Liu Boming (C) and Tang Hongbo wave during a departure ceremony before boarding the Shenzhou-12 spacecraft before lift off on a Long March-2F carrier rocket at the Jiuquan Satellite Launch Centre in the Gobi desert in northwest China on June 17, 2021.

ยานอวกาศเสินโจว-12 (Shenzhou-12) ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรกของจีนที่ส่งมนุษย์ไปสถานีอวกาศที่สร้างขึ้นใหม่ เข้าจอดที่จุดเชื่อมกับยานโมดุลหลักเมื่อคืนวันพฤหัสบดี และนักบินอวกาศทั้งสามคนเตรียมเริ่มภารกิจติดตั้งสถานีอวกาศของจีนในวงโคจรรอบโลกแล้ว

ยานอวกาศเสินโจว-12 เดินทางออกจากโลกเมื่อวันพฤหัสบดี จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิวกวน มณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีนักบินอวกาศสามคนเดินทางไปด้วย ได้แก่ เนี่ย ไห่เซิ่ง (Nie Haisheng) และ หลิว โป๋หมิง (Liu Boming) ผู้เคยเดินทางไปกับโครงการด้านอวกาศของจีนมาแล้วก่อนหน้านี้ และ ตั้ง ฮ่องโป (Tang Hongbo) ผู้เข้าร่วมเดินทางในภารกิจด้านอวกาศของจีนเป็นครั้งแรก

นักบินอวกาศทั้งสามคนจะใช้เวลาหกเดือนข้างหน้าบนยานโมดุลหลัก “เทียนเหอ” ของสถานีอวกาศ “เทียนกง” ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อช่วยประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งทดสอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ก่อนที่สถานีอวกาศนี้จะสามารถใช้งานจริงในปีหน้า และคาดว่าจะโคจรอยู่รอบโลกเป็นเวลา 10 ปี

In this Nov. 7, 2018, photo, visitors look at a life-size model of the Tianhe core module of China's next space station at the Airshow China in Zhuhai in southern China's Guangdong Province.
In this Nov. 7, 2018, photo, visitors look at a life-size model of the Tianhe core module of China's next space station at the Airshow China in Zhuhai in southern China's Guangdong Province.

เมื่อเดือนเมษายน จีนส่งชิ้นส่วนหลักของสถานีอวกาศเทียนกงไปพร้อมกับจรวดลองมาร์ช 5B ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของปฏิบัติการ 11 ขั้น เพื่อส่งมนุษย์ไปประจำการบนสถานีอวกาศถาวรของจีนในวงโคจรรอบโลก

ชิ้นส่วนหลักที่มีชื่อว่า “เทียนเหอ” คือส่วนที่นักบินอวกาศจะไปใช้ชีวิตอยู่คราวละ 6 เดือน โดยหลังจากนี้จีนจะส่งจรวดบรรทุกชิ้นส่วนหลักไปอีก 2 ลำเพื่อนำไปประกอบในอวกาศ ตามด้วยการส่งสัมภาระและอุปกรณ์ต่าง ๆ อีก 4 ครั้ง และส่งนักบินอวกาศขึ้นไปอีก 4 ครั้ง รวมทั้งหมด 11 ครั้ง

เมื่อภารกิจนี้เสร็จสิ้น สถานีอวกาศ “เทียนกง” ของจีนจะกลายเป็นสถานีอวกาศลำที่สองที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกในปัจจุบัน ต่อจากสถานีอวกาศระหว่างประเทศ หรือ ISS ที่เป็นโครงการความร่วมมือของสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น

จีนเริ่มโครงการสถานีอวกาศเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศระหว่างประเทศเนื่องจากเสียงคัดค้านของสหรัฐฯ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ

XS
SM
MD
LG