จีนประกาศความสำเร็จในการส่งชิ้นส่วนหลักของสถานีอวกาศถาวร “เทียนกง” ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญอีกอย่างหนึ่งในโครงการด้านอวกาศของจีน
ชิ้นส่วนที่มีชื่อว่า “เทียนเหอ” เดินทางไปพร้อมกับจรวดลองมาร์ช 5B ที่ถูกปล่อยจากศูนย์อวกาศเหวินชาง ในมณฑลไหหนาน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของปฏิบัติการ 11 ขั้น เพื่อส่งมนุษย์ไปประจำการบนสถานีอวกาศถาวรของจีนในวงโคจรรอบโลกภายในปีหน้า
ชิ้นส่วน “เทียนเหอ” คือส่วนที่นักบินอวกาศจะไปใช้ชีวิตอยู่คราวละ 6 เดือน โดยหลังจากนี้จีนจะส่งจรวดบรรทุกชิ้นส่วนหลักไปอีก 2 ลำเพื่อนำไปประกอบในอวกาศ ตามด้วยการส่งสัมภาระและอุปกรณ์ต่าง ๆ อีก 4 ครั้ง และส่งนักบินอวกาศขึ้นไปอีก 4 ครั้ง รวมทั้งหมด 11 ครั้ง โดยกำหนดการปล่อยจรวดครั้งหน้าจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน
เมื่อภารกิจนี้เสร็จสิ้น สถานีอวกาศ “เทียนกง” ของจีนจะกลายเป็นสถานีอวกาศลำที่สองที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกในปัจจุบัน ต่อจากสถานีอวกาศระหว่างประเทศ หรือ ISS ที่เป็นโครงการความร่วมมือของสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น
จีนเริ่มโครงการสถานีอวกาศเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศระหว่างประเทศเนื่องจากเสียงคัดค้านของสหรัฐฯ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามต่อจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ
โครงการอวกาศของจีนถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของประชาชนและบรรดาผู้นำจีน โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง รวมทั้งผู้นำพลเรือนและกองทัพจีนต่างเข้าร่วมชมการปล่อยจรวดบรรทุกชิ้นส่วนเทียนเหอ จากห้องควบคุมที่กรุงปักกิ่ง และมีการอ่านสาส์นแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่อเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์อวกาศเหวินชาง
นอกจากโครงการสถานีอวกาศ “เทียนกง” แล้ว จีนยังประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเตรียมส่งยานสำรวจลงบนพื้นผิวดาวอังคารในเดือนหน้าด้วย