Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อต้นเดือนเมษายน รัฐบาลของเมืองเสินเจิ้น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีคำสั่งห้ามชาวเมืองกินเนื้อสุนัขและแมว คำสั่งที่ว่านี้ยังรวมถึงการห้ามกินเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าที่นำมาเลี้ยงด้วย แต่ยังอนุญาตให้บริโภคเนื้อสัตว์อื่นโดยทั่วไปเช่น ลา กระต่าย นกกระทา หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นได้
เจ้าหน้าที่ทางการเมืองเสินเจิ้นประกาศว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษปรับสูงถึง 30 เท่าของมูลค่าสัตว์ป่า หากสัตว์ป่าชนิดนั้นมีราคาเกิน 1,400 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 45,000 บาท
รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการควบคุมการค้าสัตว์ป่าหลังการระบาดครั้งล่าสุดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทางการจีนได้ออกกฏหมายห้ามการบริโภคสัตว์ป่า และเมืองเสินเจิ้นก็เป็นเขตการปกครองแห่งแรกของจีนที่นำมาตรการนี้มาเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม การยุติการค้าสัตว์ป่าอาจเป็นเรื่องยากจากประเพณีปฏิบัติและความนิยมที่ฝังรากลึกในสังคมจีน เพราะนอกจากความนิยมบริโภคสัตว์ป่าแล้ว ยังมีการใช้ชิ้นส่วนของสัตว์ป่าทำยารักษาโรค รวมทั้งยังมีความเชื่อด้วยว่าชิ้นส่วนของสัตว์ป่าจะช่วยเสริมพลังของร่างกาย และมีการใช้ชิ้นส่วนสัตว์ป่าทำเครื่องแต่งกาย ใช้เป็นเครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงด้วย
กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเช่นกลุ่มชื่อ Global Virome Project ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้แสดงความกังวล โดยทางกลุ่มคาดการณ์ว่า ในแต่ละปีนั้นอาจมีเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่แพร่จากสัตว์ไปสู่มนุษย์ได้ถึงห้าชนิดด้วยกัน
และตามข้อมูลของคุณสตีฟ แกลสเตอร์ ผู้ก่อตั้งหน่วยงานชื่อ Freeland ในกรุงเทพมหานคร ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ชี้ว่าธุรกิจการค้าสัตว์ป่าในประเทศจีนนั้นมีมูลค่าสูงถึงกว่า 7,000 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้ารวมมูลค่าของธุรกิจที่รองรับสนับสนุนด้วยแล้ว ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นเป็น 10 เท่าตัวเลยทีเดียว
สตีฟ แกลสเตอร์ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เรียกร้องให้มีการห้ามธุรกิจค้าสัตว์ป่าทั่วโลก โดยเขาชี้ว่า ความนิยมบริโภคสัตว์ป่า โดยเฉพาะตัวนิ่ม ทำให้เกิดการระบาดของโรค SARS มาแล้ว แต่เรายังโชคดีที่การระบาดเท่าที่ผ่านมาไม่รุนแรงมากนัก
ส่วนนายแพทย์วิทยา วัฒนเรืองโกวิท เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยผู้หนึ่ง ก็ชี้ว่า ปัจจัยความเสี่ยงอย่างหนึ่งของประเทศในเอเชีย คือการที่ผู้คนนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ป่าแบบที่ปรุงไม่สุก หรือครึ่งสุกครึ่งดิบ ดังนั้น หากมีมาตรการที่จะห้ามการค้าสัตว์ป่าได้อย่างถาวรแล้วก็จะเป็นเรื่องดี
ถึงกระนั้นก็ตาม คุณสตีฟ แกลสเตอร์ ผู้ก่อตั้งหน่วยงาน Freeland บอกว่า สำหรับในจีนเอง ขณะนี้ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ว่าควรใช้มาตรการห้ามค้าสัตว์ป่าอย่างเข้มงวดตลอดไป หรือควรจะให้ผ่อนคลายได้ในภายหลัง
และเตือนว่า ถ้าเราไม่สนใจมุ่งแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ที่ระดับพื้นฐานอย่างจริงจังแล้ว ความพยายามรับมือกับการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเป็นเหมือนการใช้ผ้าปิดแผลราคาแพงที่ต้องมีการเปลี่ยนบ่อยครั้งนั่นเอง