ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กอริลลาภูเขาในแอฟริกาเสี่ยงติดเชื้อโคโรนาไวรัส 


FILE - A park ranger wearing a mask walks past a mountain gorilla in the Virunga National Park in eastern Congo, Dec. 11 2012.
FILE - A park ranger wearing a mask walks past a mountain gorilla in the Virunga National Park in eastern Congo, Dec. 11 2012.

ขณะที่โคโรนาไวรัสยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก นักอนุรักษ์เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับฝูงลิงกอริลล่าภูเขาที่ใกล้สูญพันธุ์ของแอฟริกา

อุทยานแห่งชาติ Virunga ของประเทศคองโก เป็นที่อยู่อาศัยของกอริลลาภูเขาประมาณ 30% ของกอริลลาภูเขาทั้งหมดทั่วโลก อุทยานแห่งนี้ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่ากอริลล่าอาจสามารถติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวันดาก็ได้ปิดรับนักท่องเที่ยวตลอดจนกิจกรรมการวิจัยต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติทั้งสามแห่ง อันเป็นที่อยู่อาศัยของลิงกอริลล่าและลิงชิมแปนซีเช่นกัน

กองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวว่า กอริลล่าภูเขาสามารถติดโรคระบบทางเดินหายใจบางชนิดที่เกิดในมนุษย์ และไข้หวัดธรรมดาก็สามารถทำให้กอริลลาถึงตายได้ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่า เหตุใดนักท่องเที่ยวจึงไม่ควรเข้าใกล้กอริลล่ามากเกินไป โดยทางอุทยานมีกฎว่านักท่องเที่ยวต้องอยู่ห่างจากกอริลล่าเป็นระยะอย่างน้อย 7 เมตร

ทั้งนี้มีกอริลล่าประมาณ 1,000 ตัวอาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองในคองโก ยูกันดา และรวันดา การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมพื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้

แต่เชื้อ COVID-19 ซึ่งเกิดจากโคโรนาไวรัส ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยาน Virunga สั่งการห้ามการเข้าเยี่ยมชมเป็นการชั่วคราว และบรรดานักอนุรักษ์ก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้

Paula Kahumbu ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ WildlifeDirect ในเคนยา บอกว่า จำเป็นต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้เพื่อปกป้องกอริลล่าภูเขาที่หลงเหลืออยู่ในป่าเพียงไม่กี่ตัว และเป็นที่ทราบดีว่ากอริลล่านั้นสามารถติดเชื้อจากมนุษย์ได้ง่าย หากใครเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมชมกอริลล่า แต่มนุษย์สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ก่อนที่จะแสดงอาการของการติดเชื้อออกมา ซึ่งจะทำให้กอริลล่าเสี่ยงที่จะติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ของอุทยานเพื่อปกป้องกอริลล่าจากนักท่องเที่ยวก็อาจยังไม่เพียงพอ

Gladys Kalema-Zikusoka ผู้ก่อตั้งและหัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ Conservation Through Public Health ในยูกันดา กล่าวว่า องค์กรของเธอร่วมกับมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ได้ทำการศึกษาวิจัยในอุทยานแห่งชาติ Bwindi Impenetrable และพบว่า กฎในการแยกกอริลล่าและนักท่องเที่ยวออกจากกันนั้นไม่มีประสิทธิภาพ

การศึกษาแสดงให้เห็นว่า กฎในการอยู่ห่างจากกอริลลา 7 เมตรนั้นถูกละเมิดเกือบทุกครั้งที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาในอุทยาน โดย 60% จะเป็นความผิดของมนุษย์ ส่วนที่เหลือคือการที่กอริลล่าเข้าไปใกล้กับมนุษย์เอง

ประชากรกอริลลาภูเขามีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากโรคภัยและการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย กอริลล่าภูเขาถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1996 ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวนำเงินตราต่างประเทศเข้ามายังรวันดาและยูกันดามากมาย รายได้จากการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญในความพยายามที่จะปกป้องกอริลล่าภูเขาเหล่านี้ โดยเจ้าหน้าที่ยังสามารถใช้เงินเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น หรือลงทุนในการปฏิบัติการต่อต้านการล่าสัตว์

การติดตามดูลิงกอริลลาอย่างใกล้ชิดในยูกันดามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600 ดอลล่าร์ ส่วนในรวันดามีค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 ดอลล่าร์

ผู้สังเกตการณ์บางคนกังวลว่า การท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัสอาจเป็นอันตรายต่อกอริลล่าเช่นกัน เพราะอาจมีการล่าสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักล่าเหล่านั้นอาจคิดว่าการรักษาความปลอดภัยอาจหย่อนลงในช่วงวิกฤตการณ์เช่นนี้

XS
SM
MD
LG