จีนเดินหน้าโครงการทางอวกาศ ทั้งการส่งจรวดที่มีกำหนดเดินทางถึงดวงจันทร์ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ และเผยแพร่แผนพิมพ์เขียวเพื่อการพัฒนาดาวเทียม การสำรวจอวกาศที่อยู่ไกลออกไป และการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรมากขึ้น
นักวิเคราะห์คาดว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายหลายประการตามแผนพัฒนาทางอวกาศในช่วงห้าปี แม้จะมีเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ้างก็ตาม
นักวิเคราะห์ยังระบุด้วยว่า โครงการอวกาศของจีนเป็นคู่แข่งของโครงการของรัสเซียและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านการนำเทคโนโลยีด้านอวกาศมาใช้ในเชิงพาณิชย์ โดย มาร์โค คาเคเรซ ผู้อำนวยการด้านการศึกษาอวกาศของบริษัทวิเคราะห์การตลาด Teal Group ระบุว่า สหรัฐฯ เคยนำหน้าจีนไปมาก แต่เศรษฐกิจจีนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้จีนกำลังก้าวตามทัน
ทั้งนี้ จีนส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีค.ศ. 1970 และส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีค.ศ. 2003 ทำให้จีนเป็นประเทศที่สามที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จต่อจากรัสเซียและสหรัฐฯ
เมื่อปีค.ศ. 2019 ยานอวกาศของจีนลงจอดที่ด้านหลังของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และจีนจะขยายขนาดสถานีอวกาศเทียนกงในปีนี้ ขณะนี้จีนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา และญี่ปุ่น เนื่องจากสหรัฐฯ กังวลถึงความปลอดภัยด้านความมั่นคงของประเทศ
รายงานโครงการอวกาศของจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า ภายในอีกห้าปีนี้ โครงการอวกาศของจีนจะมอบหมายให้นักบินอวกาศปฏิบัติภารกิจระยะยาว เพื่อวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำรวจดาวอังคารให้เสร็จ และสำรวจระบบของดาวพฤหัสบดี
รายงานดังกล่าวระบุว่า ในอีกห้าปีนี้ จีนจะพัฒนาระบบขนส่งทางอวกาศและระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอวกาศ โดยการบูรณาการระบบสำรวจระยะไกล การสื่อสาร ระบบนำทาง และเทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งดาวเทียมเข้าด้วยกัน
นักวิเคราะห์มองว่า จีนอาจบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในห้าปี เนื่องจากจีนได้ดำเนินการดังกล่าวมากว่าสิบปีแล้วโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมากจากรัฐบาล
ริชาร์ด บิตซิงเกอร์ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงขององค์กรวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร Defense Budget Project ระบุว่า รายงานของจีนฉบับดังกล่าวรวบรวมภารกิจที่จีนได้เริ่มเดินหน้าแล้ว เขามองว่า จีนอาจสามารถทำเหมืองแร่บนดาวเคราะห์น้อยได้ ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะที่ซับซ้อน
บิตซิงเกอร์ระบุว่า เป้าหมายของจีนนั้นมีเพื่อต้องการแสดงให้นานาชาติเห็นว่า จีนมีความตั้งใจอย่างสันติและต้องการมีภาพลักษณ์ที่ดี โดยแผนพิมพ์เขียวที่จีนเผยแพร่ระบุว่า ภารกิจอวกาศในอนาคตของจีนจะเป็นไปอย่างสันติ แม้สหรัฐฯ จะมองว่า โครงการอวกาศของจีนอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการทหารก็ตาม
คาเคเรซ แห่งบริษัท Teal Group ระบุด้วยว่า ความคืบหน้าของโครงการอวกาศจีน ทำให้จีนมีท่าทีเชิงรุกกว่าสหรัฐฯ ในแง่ของการขายดาวเทียมและบริการส่งยานอวกาศ เขายังมองด้วยว่า งบด้านอวกาศของจีนอาจเพิ่มขึ้นเร็วกว่างบขององค์การนาซ่า และจีนได้ขายอุปกรณ์อวกาศให้ประเทศในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาแล้ว
ขณะนี้ทั้งออสเตรเลียและญี่ปุ่นต่างใช้ข้อมูลระบบสำรวจระยะไกลทางอวกาศของจีนเพื่อจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเมื่อเดือนกันยายน รัสเซียและจีนยังตกลงในเบื้องต้นว่าจะเปิดสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ร่วมกัน
สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับวีโอเอเมื่อวันพุธว่า จีนเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อสร้างประชาคมโลก เพื่อแบ่งปันอนาคต แลกเปลี่ยนและร่วมมือกันในเชิงลึกในอวกาศ บนพื้นฐานของ “ความเท่าเทียมกัน ประโยชน์ร่วมกัน การใช้ประโยชน์อย่างสันติ และการพัฒนาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม”
อย่างไรก็ตาม อลัน ชอง รองศาสตราจารย์ของสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวว่า ประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กับจีนอาจยังใช้เทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ แม้ว่าจีนต้องการจะแบ่งปันเทคโนโลยีให้ก็ตาม ตัวอย่างเช่น รายงานจากศูนย์ Center for Strategic and International Studies ระบุว่า ชาวเมียนมาไม่พอใจที่รัฐบาลเป็นหนี้โครงการด้านสาธารณูปโภคและโครงการต่างๆ ที่พวกเขาเห็นว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาเลย
- รายงานโดยผู้สื่อข่าววีโอเอ Ralph Jennings