อัตราการเกิดของเกาหลีใต้สร้างสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 เนื่องจากผู้หญิงเกาหลีใต้เลื่อนหรือล้มเลิกแผนการมีบุตรเพราะกังวลเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพและต้นทุนการเลี้ยงดู
สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ เผยเมื่อวันพุธว่า อัตราค่าเฉลี่ยจำนวนบุตรของสตรีในช่วงวัยเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ ลดลงจากระดับ 0.78 ในปี 2022 สู่ระดับ 0.72 ในปี 2023 ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจำนวนบุตรของสตรีที่ 2.1 ซึ่งเป็นระดับที่ทางการเกาหลีใต้ต้องการเพื่อคงระดับประชากรประเทศให้คงที่
ทั้งนี้ เกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่มีอัตราการเกิดต่ำว่า 1 สวนทางกับการทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงทิศทางประชากรในประเทศที่ลดต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีช่องว่างด้านรายได้ระหว่างชายหญิงที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่ม OECD อีกด้วย โดยผู้หญิงเกาหลีใต้ทำรายได้ราว 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับผู้ชายเกาหลีใต้ในตำแหน่งเทียบเท่ากัน
จุง แจ-ฮุน อาจารย์จาก Women's University ในกรุงโซล บอกกับรอยเตอร์ว่า “ผู้หญิงไม่สามารถก้าวหน้าเติบโตในหน้าที่การงานได้เพราะพวกเขามักจะ .. เป็นฝ่ายที่ต้องดูแลลูก(และ)มักจะต้องกลับเข้าทำงานอีกครั้งหลังจากลาหยุดไปในเวลานาน ๆ ”
นอกเหนือจากการมีบุตรแล้ว เกาหลีใต้ยังมีอัตราการแต่งงานที่ลดลงด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า เกาหลีใต้จะมีอัตราการเกิดต่ำลงอีกในปี 2024 นี้ ที่ระดับ 0.68 ขณะที่เฉพาะกรุงโซลเมืองหลวง ที่มีต้นทุนค่าอสังหาริมทรัพย์สูงสุดในประเทศ มีอัตราการเกิดต่ำสุดที่ 0.55 เมื่อปีที่แล้ว
ไม่เพียงแค่เกาหลีใต้ที่เผชิญปัญหานี้โดยลำพัง เพราะเมื่อวันอังคาร ญี่ปุ่น รายงานอัตราการเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ขณะที่การแต่งงานก็ลดลงด้วยเช่นกัน
ส่วนที่ทางการมณฑลซีอานของจีน ประกาศแผนทุ่มเงิน 700,000 หยวน หรือราว 3.6 ล้านบาท แจกสลากรางวัลลุ้นโชคให้กับคู่แต่งงานใหม่ที่แสดงทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานให้ทางการ ตั้งแต่ 1 มีนาคม-30 พฤศจิกายนนี้ นับเป็นความพยายามครั้งใหม่ในการกระตุ้นการแต่งงานในช่วงเวลาที่อัตราการเกิดต่ำในจีน
เมื่อปี 2023 จีนเองเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เช่นเดียวกับการแต่งงานที่ลดลงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ขณะที่มีรายงานของสถาบันคลังสมองในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ชี้ว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตรสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
- ที่มา: รอยเตอร์