Your browser doesn’t support HTML5
คำปราศรัยในที่ประชุมสภาประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ ทำให้ทราบกันเป็นครั้งแรกว่า ความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญของจีน เพื่อให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้หลังจากครบวาระที่สองคือ 10 ปีนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว
และพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เหตุผลว่า เรื่องนี้เป็นการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องจากทั่วประเทศ รวมทั้งจากสมาชิกของพรรคด้วย ถึงแม้ว่าคำประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะทำให้มีความเห็นตำหนิวิจารณ์ออนไลน์ และทางการจีนได้เซ็นเซอร์เรื่องนี้อย่างหนักก็ตาม
ในขณะนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ชื่อว่าเป็นประธานสำหรับเกือบทุกเรื่องอยู่แล้ว เพราะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการของรัฐบาลมากมายหลายชุด แต่ตำแหน่งสำคัญที่สุดคือ ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับประธานคณะกรรมการกลางด้านการทหารของพรรค รวมทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
พรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่า การยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาที่ประธานาธิบดีจีนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ซึ่งขณะนี้คือ 10 ปีนั้น มีความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมนูญของพรรค เพราะในปัจจุบัน ธรรมนูญของพรรคไม่มีข้อกำหนดว่าประธานพรรคหรือประธานคณะกรรมการกลางด้านการทหารจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความพยายามผลักดันในเรื่องดังกล่าว แต่สมาชิกสภาประชาชนจีนที่เข้าร่วมประชุมก็ถูกห้ามไม่ให้หารือกันในขณะที่จะมีการลงมติอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์นี้ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศต่อไป
และสมาชิกสภาประชาชนจีนบางคนที่ผู้สื่อข่าว VOA มีโอกาสสอบถามเรื่องนี้ ก็มีความเห็นต่างกันไป กล่าวคือ ในขณะที่บางคนเห็นว่าเรื่องนี้อาจจะดี เพราะช่วยให้มีความต่อเนื่องทั้งในด้านผู้นำและนโยบาย
แต่บางคนก็เกรงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนดนั้น จะทำให้จีนย้อนกลับไปสู่ยุคของประธานาธิบดี เหมา เจ๋อ ตุง ผู้ปกครองประเทศมานานนับ 10 ปี และกลายเป็นการสร้างลัทธิแบบยึดมั่นในตัวบุคคลขึ้นมาแทน
ในส่วนของสหรัฐฯ ทำเนียบขาวแถลงว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของจีน แต่รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งขณะนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เองจะสามารถอยู่ในตำแหน่งจากการเลือกตั้งได้ไม่เกิน 2 สมัยหรือ 8 ปีเท่านั้น
ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะกล่าวว่า สหรัฐฯ น่าจะลองนำแนวคิดแบบจีนมาใช้บ้างก็ตาม
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็มีคำแถลงว่า สหรัฐฯ เชื่อว่าสถาบันประชาธิปไตยต่างๆ ที่เข้มแข็ง สำคัญกว่าตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้นำ และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับธรรมาภิบาลสำหรับระบบประชาธิปไตยนั้น เป็นหัวใจสำคัญในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ