Your browser doesn’t support HTML5
นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ มองว่า การพบกันระหว่างนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในรอบเพียงเดือนเศษนั้น สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของจีนที่จะมีบทบาทในโต๊ะเจรจานิวเคลียร์ ระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้
ขบวนรถไฟสีเขียวมุ่งหน้าจากเกาหลีเหนือไปยังกรุงปักกิ่งของจีน เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยเที่ยวบินส่วนตัวจากกรุงเปียงยางไปยังเมืองต้าเหลียน เมืองท่าอันเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งของจีน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การหารือระหว่างนาย สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในรอบ 1 เดือนเศษ ที่ทั่วโลกต่างจับตา
เพราะแม้ว่าจะได้รับการยืนยันในภายหลังจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนและเกาหลีเหนือว่า เป็นการหารือที่เตรียมการเอาไว้และเป็นไปอย่างจริงใจและอบอุ่น เพื่อสะท้อนว่าทั้ง 2 ชาติมีความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน และเกาหลีเหนือมีความตั้งใจที่จะยุติการทดสอบนิวเคลียร์ แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ กลับมองว่าการหารือทั้ง 2 ครั้งนี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ได้เตรียมการเอาไว้ก่อน
นาย ติง ซู่เหลียง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จาก Hong Kong University of Science & Technology บอกว่า สิ่งที่น่าสนใจระหว่างการหารือครั้งแรกและครั้งที่ 2 ระหว่างผู้นำจีนและเกาหลีเหนือ ก็คือ แม้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง จะมีภารกิจมากมายแค่ไหน เขายังสามารถเจียดเวลาเพื่อพูดคุยกับนายคิม จอง อึน ได้เสมอ
เช่นเดียวกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือที่ให้ความสำคัญกับจีน ด้วยการลงทุนเดินทางไปพบผู้นำจีนด้วยเครื่องบินส่วนตัวซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ก่อนหน้านี้ 2 อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม อิล ซุง และคิม จอง อิล ซึ่งเป็นปู่และบิดาของนายคิม จอง อึน แทบจะไม่ใช้การเดินทางโดยอากาศยาน หลังจากเกิดเหตุเครื่องบินส่วนตัวระเบิดกลางอากาศ เมื่อปี ค.ศ. 1982
โดยเหตุการณ์สุดท้ายที่เคยพบเห็นผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางโดยเครื่องบินนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1986 ที่นาย คิม อิล ซุง เดินทางไปยังกรุงมอสโก เพื่อพบกับนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตด้วยเครื่องบินรัสเซีย
ด้านนายโอ อี ซุน สมาชิกอาวุโสจาก S. Rajaratnam School of International Studies บอกว่า แม้จะยังไม่มีภาพที่ชัดเจนของการหารืออย่างเร่งด่วนของผู้นำจีนและเกาหลีเหนือครั้งล่าสุดนี้ แต่เป้าหมายใหญ่ก็คือการหาเตรียมการที่ครอบคลุม ก่อนการประชุมสุดยอดระหว่างนายคิม จอง อึน กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
การหารือที่เกิดขึ้นซ้ำสองในระยะเวลาแค่ 40 วัน ตอกย้ำว่า เกาหลีเหนือกำลังล่องเรือในลำน้ำที่ไม่คุ้นเคย ในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความบาดหมางระหว่าง 2 เกาหลีที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ และยุติการทดสอบนิวเคลียร์ในประเทศเพื่อการนี้
บวกกับท่าที่ของทรัมป์ในการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อต้นสัปดาห์ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่ามีความเป็นไปได้ทรัมป์อาจตัดสินใจถอนตัวจากการเจรจากับเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน
นายติง ซู่เหลียง มองว่า นายคิม จอง อึน ยังไม่แน่ใจว่าทรัมป์จะมีข้อเรียกร้องมากน้อยแค่ไหน แต่เห็นได้ชัดว่าทรัมป์ไม่พอใจกับการหารือกับเกาหลีเหนือในช่วงที่ผ่านมา คล้ายๆกับกรณีของอิหร่าน ที่ทรัมป์ต้องการมากกว่าที่เป็นอยู่
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จาก Hong Kong University of Science & Technology ตั้งข้อสังเกตว่า จีนกำลังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เกาหลีเหนือในการใช้วิธีที่ช้าลงในการยุติการทดสอบนิวเคลียร์ เช่น การให้เกาหลีเหนือเปิดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปที่ฐานทดสอบนิวเคลียร์เก่า โดยไม่เปิดเผยฐานทดสอบปัจจุบัน หรืออาจให้เกาหลีเหนือต่อรองกับสหรัฐฯ ให้ถอนระบบต่อต้านขีปนาวุธ หรือ THAAD ออกจากเกาหลีใต้ก่อนก็เป็นได้
ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้สร้างความประหลาดใจในการตอบรับคำเชิญเพื่อเจรจาสุดยอดแบบตัวต่อตัวกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้ชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนต้องรีบเดินเกมรุกในการประสานความร่วมมือกับเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย
นอกจากประเด็นการหารือที่เดาทางได้ยากแล้ว สถานที่ในการเปิดโต๊ะเจรจายังสร้างความกังขาอยู่จนถึงขณะนี้ หลังมีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีทรัมป์ และนายคิม จอง อึน อาจเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพในการหารือระดับโลกมาแล้ว แต่ผู้สังเกตการณ์กลับมองว่า ความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสิงคโปร์กับสหรัฐฯ อาจสร้างความบาดหมางกับจีนได้เหมือนกัน