Your browser doesn’t support HTML5
แหล่งข่าวจากธุรกิจขนส่งทางเรือเปิดเผยว่า กฎหมายควบคุมข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ของรัฐบาลจีนส่งผลให้ระบบติดตามเรือขนส่งในน่านน้ำจีนไม่สามารถระบุตำแหน่งเรือต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า วิกฤตการขนส่งสินค้าทั่วโลกที่ดำเนินมาสักระยะหนึ่งแล้วจะรุนแรงขึ้นไปอีก ตามรายงานของสำนักข่าว รอยเตอร์
รัฐบาลกรุงปักกิ่งผ่านกฎหมายปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law) ออกมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และกฎหมายใหม่นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้รัฐบาลสามารถควบคุมการจัดเก็บและส่งออกข้อมูลในจีนโดยองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นของจีนและต่างชาติได้มากขึ้น
รอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า แม้ว่ากฎหมายใหม่นี้จะไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับข้อมูลด้านการขนส่งทางเรือ ผู้ให้บริการขนส่งในจีนบางรายตัดสินใจยุติการนำส่งข้อมูลต่างๆ ให้กับคู่ค้าต่างชาติ เพราะเกรงกลัวผลลัพธ์จากการดำเนินกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว
ข้อมูลที่ผู้ให้บริการขนส่งทางเรือไม่ได้จัดส่งให้คู่ค้านั้น มีรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณสินค้าที่นำส่ง ซึ่งจะช่วยงานด้านการจัดการโลจิสติกส์ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ ในการตัดสินใจเรื่องของเส้นทางขนส่งนั่นเอง
บริษัท มารีนแทรฟฟิค (MarineTraffic) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลการเดินเรือและติดตามเรือชั้นนำของโลก คือ หนึ่งในผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ข้อมูลตำแหน่งเรือจากจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นทางการขนส่งสินค้ามากมายสู่ตลาดโลก
อนาสตาสซิส ตูรอส หัวหน้าทีมเครือข่าย Automatic Identification System (AIS) ของ มารีนแทรฟฟิค กล่าวว่า หากสถานการณ์ในปัจจุบันดำเนินต่อไป จะเกิดปัญหาใหญ่ในการติดตามเรือในระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุดของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งก็คือ ช่วงเทศกาลคริสต์มาสกำลังใกล้เข้ามาทุกที
ระบบ AIS ที่ว่านี้ ทำหน้าที่ให้ข้อมูลตำแหน่งของเรือต่างๆ ซึ่ง บริษัทเดินเรือ ท่าเรือ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารและผู้ค้า ใช้อ้างอิงสำหรับกระบวนการค้นหาและช่วยชีวิต เป็นต้น
ข้อมูลจาก บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลการตลาด VesselsValue ระบุว่า ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึง 15 พฤศจิกายนนั้น มีการประเมินว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งภาคพื้นโลกจากน่านน้ำของจีนหดหายไปถึง 90% ขณะที่แหล่งข่าวอื่นอีก 2 แห่งระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวลดลงไปราว 45% ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รอยเตอร์ ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจีน และองค์การสหประชาชาติ แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา ขณะที่จัดทำรายงานข่าวนี้