ขณะที่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายส่วนของโลกจะส่งสัญญาณคลี่คลายลงบ้าง และทำให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง นักวิเคราะห์ประเมินว่า ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้กลับยังคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ไปอีกสักพัก
ขณะที่กำลังมีการผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสในบางพื้นที่ บริษัทต่างๆ ทั่วโลกก็พยายามหาคนงาน เรือขนส่ง ชิ้นส่วนอะไหล่ และเชื้อเพลิง เพราะการขาดแคลนดังกล่าวส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย
ที่ประเทศอังกฤษ บริษัทผู้ทำฟาร์มไก่รายใหญ่ที่สุดของประเทศเตือนว่าเวลาของการมีอาหารราคาถูกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากำลังจะสิ้นสุดลง หัวหน้าฝ่ายผลิตของบริษัทกล่าวว่า ราคาอาหารจะสูงขึ้นมากเนื่องจากต้นทุนแรงงานและซัพพลายต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น
รานจิต ซิงห์ โบพาราน (Ranjit Singh Boparan) เจ้าของบริษัท 2 Sisters Food Group ในอังกฤษกล่าวว่า การซื้อไก่ที่มีน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมเศษๆ ได้ในราคาราว 130 บาท เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คนนั้น จะไม่มีอีกแล้ว
ที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตสินค้าประเภทจากฟาร์มและนม Meiji Holdings ได้ขึ้นราคาผลิตภัณฑ์บางอย่างถึง 12.8% ซึ่งเป็นการขึ้นราคาครั้งแรกของผู้ผลิตนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ส่วนบริษัทอาหารอื่นๆ ก็ได้ปรับขึ้นราคากลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของตนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีด้วยเช่นกัน
ยูกะ อุราคาวา (Yuka Urakawa) เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในประเทศของเธอ ซึ่งเธอมองว่า เป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะรายได้ของผู้คนไม่ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาษีก็ยังเพิ่มขึ้น และผู้คนก็เริ่มยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อกลางเดือนตุลาคม ธนาคารกลางของสวีเดนรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศในแถบยุโรปเหนือแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี และมีรายงานที่คล้ายนี้กันมาจากสเปนและไอร์แลนด์ด้วย
การขาดแคลนแรงงานทำให้เกิดความล่าช้าครั้งใหญ่ที่ท่าเรือในสหรัฐฯ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่าคนงานที่ท่าเรือในนครลอส แอนเจลิสและเมืองลองบีชของรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อขนตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 500,000 ตู้ที่รออยู่บนเรือ
ต้นทุนพลังงงานพุ่งสูง
และขณะที่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ได้ปฏิเสธคำเรียกร้องให้มีการเพิ่มการผลิตน้ำมันอยู่ดี
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 1 แกลลอนของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี และกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ คาดว่า ราคาเชื้อเพลิงในฤดูหนาวนี้จะสูงขึ้นมาก ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนได้พูดคุยกับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซของสหรัฐฯ เพื่อขอให้ช่วยลดราคาของเชื้อเพลิงลงแล้ว
ส่วนที่ประเทศจีน การขาดแคลนถ่านหิน ราคาเชื้อเพลิงที่สูง ตลอดจนความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดโรคระบาด ส่งผลให้การผลิตในโรงงานที่ส่งสินค้าไปทั่วโลกต้องหยุดชะงัก
สำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency – IEA) ได้บันทึกไว้ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้นยังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการที่ไฟฟ้าขาดแคลนอาจส่งผลให้กิจกรรมทางอุตสาหกรรมลดลงและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงด้วย
ภาวะขาดแคลนซัพพลายเซมิคอนดักเตอร์
TomTom บริษัทซอฟต์แวร์แผนที่ของเนเธอร์แลนด์รายงานในเดือนตุลาคมว่า ยอดขายของบริษัทลดลง 21% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ พร้อมเตือนว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์อาจคงอยู่จนถึงครึ่งแรกของปี 2022
ทั้งนี้ Tom Tom เองเป็นหนึ่งในผู้จัดหาซอฟต์แวร์ให้กับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์เหล่านั้นด้วย
ทาโก ทิตูแลร์ (Taco Titulaer) ประธานฝ่ายการเงินของ TomTom กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ทางบริษัทประเมินปัญหาห่วงโซ่อุปทานต่ำเกินไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์
CNH Industrial NV ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลี-อเมริกันก็รายงานว่า บริษัทจะปิดศูนย์การผลิตหลายแห่งในยุโรปชั่วคราวเนื่องจากมีปัญหาเรื่องอะไหล่
ผู้ผลิตรถยนต์บางราย เช่น โตโยต้า (Toyota) หวังว่า บริษัทจะเริ่มเปิดสายการผลิตใหม่ได้ในเดือนธันวาคมด้วยอะไหล่ที่ส่งมาใหม่จากซัพพลายเออร์ที่ต้องหยุดไปเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกกับรอยเตอร์ว่า บริษัทมีแผนจะผลิตรถยนต์เพิ่มอีก 97,000 คันระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมปีหน้า โดยอาจเพิ่มช่วงเวลาการทำงานในช่วงสุดสัปดาห์ด้วย
ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นนี้ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับบริษัท TSMC ของไต้หวัน ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งรายงานผลกำไรไตรมาสที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อระบบห่วงโซ่อุปทานชิปนั้น ทำให้ TSMC และไต้หวัน กลายมาเป็นศูนย์กลางของความพยายามในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนคอมพิวเตอร์ชิปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนด้วย