Your browser doesn’t support HTML5
จีนเริ่มใช้กฎหมายอาญาชุดใหม่ที่รัฐบาลกล่าวว่าเป็นเครื่องมือปราบปรามการปล่อยข่าวลือบนอินเตอร์เน็ท ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี อย่างไรก็ตามกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกังวลว่ากฎหมายนี้อาจถูกใช้ริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
กฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งมีผลวันที่ 1 พฤศจิกายน สามารถเอาผิดผู้เผยแพร่ข้อมูลบนโซเชี่ยลมีเดีย เช่นเว็บไซท์ Weibo
ทางการบอกว่าจะเอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความที่สร้างความเข้าใจผิด ทั้งเรื่องการระบาดของโรค อุบัติภัย ภัยธรรมชาติ ไปจนถึงรายงานที่อ้างว่ามาจากเจ้าหน้าที่
นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน Wu Bin กล่าวว่าเป็นการยากที่จะตัดสินว่าเกณฑ์การจำแนกข้อมูลเท็จใดเป็นมาตรฐานที่เหมาะสม และจะดูอย่างไรว่าผู้เผยแพร่ข้อมูลจงใจหรือไม่ที่ส่งต่อข่าวเท็จที่ตนได้มา
เขาบอกว่ารัฐบาลจีนมีมาตรฐานเป็นของตนเอง และกรุงปักกิ่งมีความยืดหยุ่นสูงในการใช้กฎต่างๆ เขาบอกว่าหากทางการต้องการจับกุมตัวใคร เจ้าหน้าที่อาจตัดสินเลยว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่มีปัญหาเป็นการกระทำที่ผู้ทำความผิดไตร่ตรองรอบคอบมาแล้ว เขากังวลว่าสำหรับผู้เห็นต่างจากรัฐบาลเช่นเดียวกับเขา เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการทำให้ฝ่ายตรงข้ามดูเหมือนว่าได้ทำผิดกฎหมายฉบับนี้
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมายนี้คือเรื่องการห้ามแพร่ข้อมูลเท็จเรื่องอุบัติภัยและภัยธรรมชาติ เพราะตามปกติรัฐบาลไม่ค่อยให้ข้อมูลเรื่องจำนวนผู้บาดและเสียชีวิตอย่างเสรีเหมือนหลายประเทศ
เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์คลังเก็บสินค้าระเบิดที่เมืองเทียนจินในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าปิดปากเงียบในตอนแรกเรื่องจำนวนผู้บาดเจ็บ และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองรายที่ส่งต่อข้อมูลที่ว่ามีผู้เสียชีวิต 1,300 คน ต่อมาภายหลังทั้งสองคนถูกจับในข้อหาให้ข้อมูลเท็จที่สร้างความวุ่นวายในสังคม และถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่
ในอีกกรณีหนึ่งตำรวจปักกิ่งจับผู้ปล่อยข่าวลือว่ามีนักลงทุนหลายคนฆ่าตัวตายช่วงที่หุ้นจีนลงแรงในเดือนกรกฎาคม ชายผู้นั้นถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 5 วัน
สำหรับกฎหมายใหม่นั้น โทษจากการปล่อยข่าวลืออยู่ระหว่างจำคุก 3 ปีถึง 7 ปี ขึ้นอยู่กับว่าทางการจะพิจารณาความร้ายแรงของผลกระทบอย่างไร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหน่วยงาน Freedom House เปิดเผยรายงานประจำปีเรื่องเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งชี้ว่าจีนติดอันดับหนึ่งในฐานะประเทศที่ละเมิดเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร้ายแรงที่สุด
(รายงานโดย Han Yi / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)