เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนจะประชุมกันในสัปดาห์หน้า ซึ่งผู้สังเกตการณ์คาดหมายกันว่าเป็นการหารือเพื่อวางแผนระยะห้าปีของประเทศ ท่ามกลางการชะลอลงของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สาม ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติจีนโตเพียงร้อยละ 6.9 ต่ำสุดในรอบหกปี
สื่อจีนรายงานว่าการวางแผนห้าปีครั้งที่จะถึงนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 13 เจ้าหน้าที่จะให้ความสนใจกับแนวทางการกระตุ้นให้รายได้ต่อหัวของประชาชนให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ. 2020 เทียบกับปี 2010 เท่ากับว่าขณะนี้กรุงปักกิ่งเดินทางมาครึ่งทางของแผนดังกล่าว
นักวิเคราะห์ Dan Steinbock จาก สถาบัน India, China and American Institute กล่าวว่า แผนห้าปีของรัฐบาลปักกิ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตเศรษฐกิจของจีน เขาบอกว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะสร้างความปวดหัวให้กับทางการ มากยิ่งกว่าการเพิ่มรายได้ของประชาชน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการปฏิรูป ซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวัง หากว่าปฏิรูปเร็วเกินไป แรงส่งทางเศรษฐกิจอาจลดลงและอาจทำให้คนตกงาน รวมถึงสร้างความระส่ำระสายทางสังคม แต่หากว่าปฏิรูปอย่างไม่ทันการณ์ การเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นได้
แหล่งข่าวกล่าวว่ารัฐบาลปักกิ่งตั้งใจที่จะวางรากฐานของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องการกระตุ้นภาคบริการ เร่งการพัฒนาด้านนวัตกรรมทางการเกษตร รวมไปถึงแผนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งน่าจะมีเรื่องการผลักดันเศรษฐกิจเขตเมืองและเขตชนบทอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ขณะที่ทางการจีนได้ส่งสัญญาณว่าเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะอยู่ประมาณร้อยละ 7 และอาจจะยืดหยุ่นจากตัวเลขดังกล่าวได้บ้าง นักวิเคราะห์บางคนชี้ให้เห็นถึงตัวเลขที่น่าเป็นห่วงจากภาคการผลิต
เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัว 6.9% ในไตรมาสที่แล้ว ได้แรงส่งจากภาคบริการเป็นหลังที่โตถึงร้อยละ 8.4 แซงหน้าภาคการผลิตที่ขยายตัวร้อยละ 6 ส่วนภาคเกษตรโตเพียง 3.8% ในไตรมาสที่แล้ว
นักธุรกิจอย่าง David Lee ประธานบริษัท Kingcan Holdings ผู้ผลิตกระป๋อง ที่เมืองฟูเจี้ยนกล่าววว่า ความต้องการสินค้าโดยทั่วไปในหลายบริเวณไม่เติบโต และมีบริษัทไต้หวันบางแห่งต้องลดการผลิตในจีน เขาบอกว่าที่เมืองตงกวนแห่งมณฑลกวางตุ้ง มีโรงงานที่ต้องปิดตัวลงไปด้วย
ส่วนอาจารย์ Lu Hong-te จากมหาวิทยาลัย Chung Yuan Christian University กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่ขายสินค้าในตลาดล่างกำลังเจอแรงกดดัน และอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางรายต้องเลิกกิจการในที่สุด
(รายงานโดย Joyce Huang / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)