Your browser doesn’t support HTML5
แม้ว่ากัมพูชาอาจจะคิดว่าตนเองประสบความสำเร็จ ในการลดความแข็งกร้าวของแถลงการณ์ร่วมของสมาคมอาเซียนในจุดยืนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับจีน แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าจุดยืนของกัมพูชาครั้งนี้ได้สร้างความแตกแยกขึ้นในสมาคมอาเซียนที่มีสมาชิก 10 ประเทศ
พวกเขาชี้ว่าการที่กัมพูชาปฏิเสธไม่หนุนแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ด้วยการเจรจาแบบพหุภาคี ส่งผลให้สมาคมอาเซียนหมดบทบาททางการเมือง และถึงเวลาที่ทบทวนกันใหม่ถึงบทบาทของกลุ่ม
คุณ Billy Chai-Lung Tai นักวิเคราะห์อิสระและนักวิชาการชาวไต้หวัน ชี้ว่า หากมองสมาคมอาเซียนในฐานะกลุ่มก้อนของประเทศที่รวมตัวกัน อาเซียนจะมีศักยภาพในระดับภูมิภาคพอสมควรทีเดียว เขากล่าวว่าความแตกแตกที่เกิดขึ้นจากจุดยืนของกัมพูชาที่เอียงไปทางจีนนี้ ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมาก เพียงแต่ยังไม่ปรากฏให้เห็นในตอนนี้เท่านั้น
เขาคิดว่าประเทศสมาชิกจะแสดงความไม่พอใจต่อบทบาทของกัมพูชาออกมาอย่างแน่นอนในภายหลัง เพราะกัมพูชามองข้ามประเทศเพื่อนบ้านของตน และใช้แรงสนับสนุนของตนต่อจีนเป็นอาวุธในการต่อรองถ้อยแถลงในแถลงการณ์ร่วมครั้งนี้ ที่ไม่กล่าวถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนกับจีน
ในแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนปีนี้ที่ลาว ไม่มีการกล่าวถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม ที่ปฏิเสธการกล่าวอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ จีนปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามคำร้องของฟิลิปปินส์ ซึ่งกัมพูชาแสดงแรงหนุนจีนในเรื่องนี้
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จีนได้ให้เงินช่วยเหลือและเงินกู้แก่กัมพูชาแล้ว 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศว่าตนได้ยอมรับข้อเสนอความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม และเงินกู้จากจีนอีก 600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยถูกมองว่าจีนให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกัมพูชาเพื่อแลกเปลี่ยนกับแรงสนับสนุนทางการทูตจากกัมพูชา
คุณ Chheng Vannarith นักวิเคราะห์การเมืองเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ยากที่กัมพูชาจะรักษาความเป็นกลางเอาไว้ได้ หากยังรับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนอย่างต่อเนื่อง
คุณ Bernd Schaefer นักวิชาการแห่งศูนย์ Woodrow Wilson International Center for Scholars กล่าวว่า จุดยืนที่ไม่เที่ยงตรงของกัมพูชาในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสมาชิกอาเซียนบางชาติกับจีนนี้ ส่งผลร้ายแรงต่ออนาคตของสมาคมอาเซียนเอง
เขากล่าวว่า กัมพูชาต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าผลักดันจุดยืนนี้ต่อไปหรือจะถอยหลัง แล้วปล่อยให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบมีเหตุมีผล และตั้งอยู่บนความเป็นจริง
เขากล่าวว่าแนวทางเก้ไขปัญหาที่ว่านี้ อาจจะรวมถึงการเจรจาทวิภาคีระหว่างฟิลิปปินส์เองกับจีน เพื่อตอกย้ำชันชนะของฟิลิปปินส์หลังคำตัดสินของศาล เขายังเร่งเร้าให้จีนใช้แนวทางที่มีเหตุมีผลและตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงมากกว่านี้ ในการรับมือกับสมาคมอาเซียน เขากล่าวว่าจีนควรกังวลมากขึ้นต่อความน่าเชื่อถือของตนในสายตานานาชาติเพราะคำตัดสินของศาลสร้างความเสียหายแก่ความน่าเชื่อถือของจีน
ด้านนักวิเคราะห์อีกหลายคน กล่าวว่า กัมพูชาจะได้รับผลกระทบจากจุดยืนของตนเองครั้งนี้แน่นอน เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนจะไม่ให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างของประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ความขัดแย้งทางชายแดน แรงงานข้ามชายแดน การท่องเที่ยว ความร่วมมือทางการทหารและโครงการพัฒนาอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องการแรงสนันสนุนที่เป็นเอกฉันท์จากทางกลุ่ม
พวกเขาชี้ว่า ต้องจับตาดูกันว่าในระยะกลางถึงระยะยาว กัมพูชาจะต้องสูญเสียแรงสนับสนุนจากกลุ่มอาเซียนอะไรบ้าง เพื่อแลกกับการเป็นพันธมิตรกับจีน แต่ที่แน่นอนในตอนนี้ สมาคมอาเซียนได้เจอกับความแตกร้าวในกลุ่มแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นี่เอง
(รายงานโดย Luke Hunt and Hul Reaksmey / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)