Your browser doesn’t support HTML5
ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน กล่าวว่ามีผู้นำของ 30 ประเทศจากบรรดาประเทศและองค์การต่างๆ กว่า 100 แห่งที่เข้าประชุมสุดยอดเรื่องโครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่กรุงปักกิ่ง ได้ร่วมลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมเพื่อส่งเสริมการเปิดระบบเศรษฐกิจของโลก และขยายการเปิดเสรีด้านการค้าจากแนวคิดริเริ่มด้านการคมนาคมขนส่งระดับโลกนี้
โดยผู้นำของจีนได้เน้นย้ำเรื่องการเชื่อมต่อรวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศจาก "โครงการหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน" ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางวงแหวนเศรษฐกิจทางบก และเส้นทางเดินเรือสายไหมสำหรับศตวรรษที่ 21
ประธานาธิบดีของจีนได้ย้ำด้วยว่า "ความร่วมมือต่างๆ จะไม่ยึดถือตามอุดมการณ์ความเชื่อ และจีนจะไม่ใช้โครงการนี้เพื่อแสวงประโยชน์ทางการเมือง"
อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุม ยังคงสงวนท่าทีและไม่ได้สนับสนุนโครงการนี้อย่างเป็นทางการ อย่างเช่น สหรัฐฯ และเยอรมนี ได้เน้นเรื่องความโปร่งใส และเวทีสำหรับการแข่งขันอย่างเสมอภาค
โดยเฉพาะเยอรมนีซึ่งไม่ได้ขอเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ได้แสดงความสนใจที่จะให้มีกติกาการแข่งขันอย่างเป็นธรรมสำหรับภาคธุรกิจของตน
ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของโลกได้ นับตั้งแต่ปัญหาความยากจนไปถึงการก่อการร้าย
และจะมีการสร้างเขตเศรษฐกิจหกแห่งเพื่อเชื่อมต่อระหว่างจีนกับอีก 65 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันถึงราว 60 % ของพลเมืองโลก และมีสัดส่วนของผลผลิต GDP ประมาณ 30 % ของโลกด้วย
คาดว่าโครงการหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวนนี้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงเก้าแสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ โดยจีนจะรับผิดชอบราว 14% หรือราวหนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันล้านดอลลาร์
รวมทั้งสัญญาจะช่วยสร้างห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ 50 แห่งให้กับประเทศที่ร่วมโครงการ และฝึกอบรมนักวิจัยต่างประเทศอีกราวห้าพันคนด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคน เช่น นาย David Kelly ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ China Policy Consultant เตือนว่า "โครงการลงทุนขนาดใหญ่นี้จะกลายเป็นเครื่องทดสอบและเครื่องวัดความสำเร็จของจีนบนเวทีโลก
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของจีน หากโครงการดังกล่าวไม่เป็นผลตามที่คาด ล่าช้า หรือสิ้นเปลืองงบประมาณลงทุนมากเกินไป"
และว่าจีนกำลังวางเดิมพันอย่างสูงสำหรับความสำเร็จของโครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่นี้