เมื่อวันพุธ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประชุมร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เต็มคณะ ที่ทำเนียบขาว เพื่อหารือเรื่องภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อกรุงเปียงยาง พร้อมไปกับการใช้วิธีทางการทูตเพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจา
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญในเรื่องนี้คือ จีนพร้อมที่จะช่วยเหลือสหรัฐฯ ในการกดดันเกาหลีเหนือมากน้อยแค่ไหน?
นักวิเคราะห์ในประเทศจีนต่างเชื่อว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ใช้มาตรการทุกอย่างเท่าที่จำเป็น ในการควบคุมพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงการห้ามนำเข้าถ่านหินจากเกาหลีเหนือ การห้ามทำธุรกรรม และการควบคุมการหลั่งไหลของเงินทุนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้
คุณ Lu Chao นักวิชาการด้านเกาหลีเหนือที่ Liaoning Academy of Social Sciences ของจีน ระบุว่า “จีนได้ใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยใช้ต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อเกาหลีเหนือแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลา”
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่ามาตรการต่อไปที่จีนอาจนำมาใช้ คือการจำกัดด้านพลังงาน ซึ่งอาจรวมถึงการห้ามส่งออกน้ำมันหรือเชื้อเพลิงอื่นๆ ไปยังเกาหลีเหนือ หากว่ากรุงเปียงยางยังดื้อดึงทดสอบนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธ ที่ถือเป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในเกาหลีเหนือเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจีนอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้แม้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าอาจเป็นเพราะเกาหลีเหนือได้กักตุนน้ำมันเอาไว้ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกคว่ำบาตรการส่งออกในเร็ววันนี้
อาจารย์ Cai Jian แห่งศูนย์เกาหลีศึกษา ที่มหาวิทยาลัย Fudan ในนครเซี่ยงไฮ้ เชื่อว่า “หากจีนใช้มาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานจริงๆ จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ตลอดจนส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเกาหลีเหนือและวิถีชีวิตของผู้คนด้วย จึงควรเก็บเอาไว้ใช้ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ”
ที่ผ่านมา จีนคือพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมักเปรียบความสัมพันธ์ของสองประเทศเพื่อนบ้านนี้ว่าเป็นเสมือน “ลิ้นกับฟัน”
แต่ดูเหมือนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นตั้งแต่ยุคของผู้นำคิม อิล ซุง และผู้นำคิม จอง นัม กลับเหินห่างไปในยุคของผู้นำรุ่นที่สาม เห็นได้จากที่ คิม จอง อึน ไม่เคยเดินทางเยือนจีนเลยนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจ
และเมื่อต้นปีนี้ จีนพยายามส่งผู้แทนด้านนิวเคลียร์ไปเจรจากับเกาหลีเหนือ แต่ก็ถูกปฏิเสธ
ด้านคุณ Daniel Pinkston นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเอเชีย ที่มหาวิทยาลัย Troy ในกรุงโซล เชื่อว่าเวลานี้จีนกำลังไม่พอใจอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจไม่ทำอะไรรุนแรงมากกว่านี้
นักวิเคราะห์ผู้นี้มองว่า “หากพูดถึงการสร้างความตึงเครียดในเกาหลีเหนือจนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบการปกครองในปัจจุบัน หรือการสนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติในกรุงเปียงยาง ตนยังไม่เห็นประโยชน์หรือความจำเป็นที่จีนต้องทำเช่นนั้น”
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เชื่อว่า จีนกำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ด้วยการใช้นโยบายที่โอนอ่อนกับสหรัฐฯ แต่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ เห็นได้จากในบทบรรณาธิการหลายชิ้นในสื่อของทางการจีน ที่ส่งคำเตือนไปยังเกาหลีเหนือให้หยุดพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดสงคราม
คุณ Bong Young-shik แห่งศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัย Yonsei ในกรุงโซล ระบุว่า “จีนได้ส่งคำเตือนที่แข็งกร้าวไปยังกรุงเปียงยางแล้ว เพื่อให้หยุดการคุกคามหรือยั่วยุใดๆ ที่อาจทำให้สหรัฐฯ คิดว่าเกาหลีเหนือกำลังข้ามเส้น”
ตั้งแต่ผู้นำคิม จอง อึน ขึ้นสู่อำนาจ เขาได้สั่งการให้ทดสอบนิวเคลียร์ไปแล้ว 3 ครั้ง และทดสอบขีปนาวุธอีกมากกว่า 10 ครั้ง และเชื่อว่ากำลังจะมีครั้งต่อไปเร็วๆ นี้
และดูเหมือนภายใต้การปกครองของเขา เกาหลีเหนือคงไม่เข้าร่วมในการเจรจาด้านนิวเคลียร์ง่ายๆ ไม่ว่าจะมีจีนเป็นตัวกลางหรือไม่ก็ตาม
(ผู้สื่อข่าว Bill Ide รายงานจากกรุงปักกิ่ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)