จีนสั่งห้ามส่งออกเทคโนโลยีแต่งสินแร่หายาก อ้างความมั่นคงประเทศ

ภาพรูปปั้นจิ๋วคนงานจีนยืนขุดบนแผ่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีธงชาติจีนอยู่ด้านหลัง 。

จีนออกคำสั่งในวันพฤหัสบดี ห้ามการส่งออกเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการแต่งสินแร่หายาก เพื่อหวังปกป้องสถานภาพของตนในฐานะผู้แปรรูปโลหะที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ชั้นนำของโลก ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

กระทรวงพาณิชย์จีนเริ่มต้นการสำรวจความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีที่แล้วเกี่ยวกับแผนการเพิ่มเทคโนโลยีแต่งสินแร่เข้าไปใน “แคตตาล็อกว่าด้วยเทคโนโลยีที่ถูกสั่งห้ามและถูกจำกัดจากการส่งออก”

แคตตาล็อกที่ว่านี้ ระบุว่า มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์ของประชาชน

จีนได้ดำเนินการคุมเข้มแนวทางปฏิบัติด้านการส่งออกโลหะหลายชนิดอย่างมากในปีนี้ ในช่วงที่การแข่งขันกับชาติตะวันตกเพื่อควบคุมสินแร่สำคัญต่าง ๆ มีความรุนแรงเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จีนประกาศออกกฎให้ต้องมีการขอใบอนุญาตส่งออกแกลเลียม (gallium) และเจอร์เมเนียม (germanium) ที่ใช้สำหรับการผลิตชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะออกกฎแบบเดียวกันสำหรับการส่งออกแร่แกรไฟต์ (graphite) หลายประเภทเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม

การเดินหน้าการคุมเข้มการส่งออกเทคโนโลยีแต่งสินแร่หายากของจีนเกิดขึ้น ขณะที่ ยุโรปและสหรัฐฯ เร่งหาทางทำให้ตนไม่ต้องพึ่งพาสินแร่กลุ่มนี้จากจีนซึ่งถือครอง 90% ของสินแร่ที่แต่งแล้วและมีจำหน่ายในโลก

นิยามของคำว่า สินแร่หายากนั้น ครอบคลุมแร่โลหะ 17 ชนิดที่ถูกใช้ในการผลิตแม่เหล็กสำหรับการประกอบรถยนต์พลังไฟฟ้า ใบพัดของกังหันลม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนว่า จริง ๆ แล้ว จีนส่งออกเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินแร่หายากกี่แบบออกมา หลังกรุงปักกิ่งพยายามลดการส่งออกสินค้าประเภทนี้มาตั้งแต่ปี 2007 ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์สินแร่หายากที่ไม่ขอเปิดเผยตัวตน

นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและฝรั่งเศสก็มีเทคโนโลยีของตน แต่จีนเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนและประสิทธิภาพในระดับต้น ๆ

  • ที่มา: รอยเตอร์