สินแร่หายากหรือ Rare Earths นั้น ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ไฮเท็คแทบทุกอย่าง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ทคอมพิวเตอร์ วิดีโอเกมส์ เครื่องรับโทรทัศน์ 3 มิติ ตลอดจนยุทโธปกรณ์สำคัญ ๆ สินแร่หายากดังกล่าวจึงเป็นวัตถุดิบซึ่งเป็นที่ต้องการสูง สินแร่หายากเหล่านั้นได้แก่แร่ธาตุ 17 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายโลหะ แต่ต่างจากโลหะอื่น ๆ
Jeffrey Post นักวิจัยด้านธรณีวิทยา ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในเครือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian’s National Museum of Natural History) ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า การใช้คำว่า “Rare” ในการเรียกสินแร่เหล่านี้ อาจไม่ค่อยเหมาะเจาะนัก ในบางกรณีคำที่เหมาะกว่าอาจเป็นคำว่า “hidden” ซึ่งแปลว่า ซ่อนอยู่ เพราะสินแร่เหล่านี้ ส่วนใหญ่พบทั่วไปในพื้นผิวเปลือกโลก แต่มักกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็ก ๆ ในปริมาณน้อยมาก มีเพียงไม่กี่พื้นที่ที่มีสินแร่เหล่านี้เป็นแหล่งใหญ่พอที่จะทำเหมืองได้ แร่เหล่านี้หลายชนิดเป็นที่รู้จักกันทั่วไป อย่าง ตะกั่ว นิคเคิล และสังกะสี เป็นต้น ดังนั้น คำว่า “Rare” หรือ หายาก ในที่นี้ หมายถึงการมีอยู่ในปริมาณไม่เพียงพอในที่เดียว
อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีการผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ไฮเท็คกันมากขึ้น สินแร่หายากจึงกลายเป็นวัตถุดิบซึ่งเป็นที่ต้องการกันมากขึ้นในตลาดโลก และราคาสินแร่หายากบางชนิดจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ประเทศที่มีแหล่งแร่ดังกล่าวเป็นปริมาณมากสามารถทำกำไรสูง
บริเวณที่เคยเป็นแร่เหล็กในมองโกเลียตอนในในประเทศจีนกลายเป็นแหล่งทำเหมืองสินแร่หายากใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตสินแร่หายากชนิดต่าง ๆ ออกมามากกว่า 90 % ของการผลิตทั่วโลก
Jeffrey Post นักวิจัยด้านธรณีวิทยาที่สถาบันสมิธโซเนียนอธิบายว่า กระบวนการทางธรณีวิทยาโดยธรรมชาติทำให้เกิดแหล่งสินแร่ต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งมีสินแร่หายากปนอยู่ในรูปผลึก การสะกัดสินแร่หายากออกจากสินแร่อื่น เป็นกระบวนการที่ยากลำบาก ต้องใช้กรรมวิธีทางเคมีพิเศษในการแยกทั้งจากแร่ธาตุอื่น และจากสินแร่หายากด้วยกันเอง เพราะสินแร่หายากเหล่านี้ มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกันมาก
นักธรณีวิทยาทั่วโลกกำลังมองหาแหล่งสินแร่เหล่านี้แหล่งใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน การแปรรูปขยะอีเล็กทรอนิกส์เพื่อแยกสินแร่เหล่านี้กลับออกมาใช้ประโยชน์ใหม่ก็กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน