"ทะเลจีนใต้" ประเด็นใหญ่ในการประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ กลางเดือนหน้า

FILE - The Vietnamese-claimed Southwest Cay island in the Spratly island group is seen from a Philippine Air Force C-130 transport plane during the visit to the Philippine-claimed Thitu Island by Defense Secretary Delfin Lorenzana, Armed Forces Chief Gen.

Your browser doesn’t support HTML5

"ทะเลจีนใต้" ประเด็นใหญ่ในการประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ กลางเดือนหน้า

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จีนและประเทศสมาคมอาเซียน จะหยิบยกประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือกัน ระหว่างการประชุมอาเซียนที่กรุงมะนิลา ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอาเซียนไม่น่าจะมีถ้อยคำที่รุนแรงต่อจีนซึ่งกำลังได้รับความเคารพนับถือมากขึ้นในภูมิภาคนี้

ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จะร่วมประชุมกับผู้แทนจากจีนระหว่างวันที่ 10 - 14 พ.ย. ที่กรุงมะนิลา โดยมีฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งคาดว่าบรรยากาศการประชุมจะเป็นไปอย่างชื่นมื่น และมีเป้าหมายที่การสร้างความร่วมมือ มากกว่าจะมีความขัดแย้ง

นักวิเคราะห์เชื่อว่าแถลงการณ์จากที่ประชุมอาเซียนคราวนี้ จะครอบคลุมถึงประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้อย่างกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง และน่าจะเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น

เหตุผลหนึ่งที่น่าจะทำให้การเจรจาเรื่องทะเลจีนใต้เป็นไปอย่างประณีประณอม คือความพยายามสร้างความเข้าใจและการทำงานร่วมกันของประเทศที่อยู่ในความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น การที่รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียน ได้ตกลงกันเมื่อเดือนสิงหาคม ให้จัดทำโครงร่างระเบียบปฏิบัติที่มุ่งเน้นการหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แทนการแข่งขันแย่งชิงอธิปไตยเหนือพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว

สำหรับรายละเอียดต่างๆ ของระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้นั้น คาดว่าจะมีการหารือกันในปีหน้า

ขณะเดียวกัน ท่าทีของจีนที่ผ่านมาก็มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตัดสินเมื่อปีที่แล้วว่าการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้นั้นไม่ถูกต้อง ดูเหมือนจีนได้พยายามลดความก้าวร้าวในทะเลจีนใต้ และหันไปสร้างสัมพันธ์กับประเทศแถบอาเซียนเป็นรายประเทศแทน

อาจารย์ คาร์ล เธย์เยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแถบเอเชียแปซิฟิก จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลล์ ในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า จีนต้องการเรียกการพูดคุยเรื่องระเบียบปฏิบัตินี้ว่าเป็น "การปรึกษาหารือ" หรือ "การอภิปราย" เพื่อหลีกเลี่ยงคำที่เป็นทางการมากกว่านั้น คือ "การเจรจาต่อรอง"

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังขอให้ระบุเงื่อนไขลงไปในโครงร่างของระเบียบปฏิบัติที่ว่านี้ด้วย เช่น การไม่ยินยอมให้สหรัฐฯ หรือประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงขณะมีการเจรจาเรื่องระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับอาเซียน ไม่เช่นนั้นจีนจะถอนตัวออกจากกระบวนการเจรจาทันที​

ทางด้้าน อาจารย์ นาธาน หลิว แห่งมหาวิทยาลัยหมิงชวนในไต้หวัน กล่าวว่า เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีนมากที่สุดในประเด็นทะเลจีนใต้ กลับเงียบเสียงลงไปในช่วงหลังๆ หลังจากที่มีการทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และความร่วมมือทางทะเล ระหว่างทั้งสองประเทศกับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ในขณะที่บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งเป็นอีกสองประเทศที่ร่วมกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนในทะเลจีนใต้ ก็ดูจะนิ่งเฉยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า เวลานี้ประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ได้บรรเทาเบาบางลงมาก ภายใต้พลังทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังครอบงำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อยๆ

(ผู้สื่อข่าว Ralph Jenning รายงานจากกรุงไทเป / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)