ในวันนี้ รัฐสภาไทยจะลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นครั้งที่สอง เป็นเวลากว่าสองเดือนนับตั้งแต่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งไปได้แบบเหนือความคาดหมาย โดยกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองแปดพรรค ยังคงสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง หลังเขาได้รับเสียงสนับสนุนไม่มากพอในการลงคะแนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.
รอยเตอร์สรุปรายละเอียดการลงคะแนนเสียงเลือกผู้นำคนใหม่ของไทย ดังต่อไปนี้
เกิดอะไรขึ้นในการลงคะแนนครั้งที่แล้ว?
ในการลงคะแนนของสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่มีผู้ลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ แข่งกับพิธา แต่เขาก็ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอจากรัฐสภาที่ประกอบด้วยทั้งส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง
แม้พิธาจะได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส. กว่า 60% แต่เขาได้รับเสียงจาก สว. เพียง 13 เสียง จากทั้งหมด 249 เสียง โดย สว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของอดีตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ เขายังขาดเสียงอีก 51 เสียง เพื่อให้ได้คะแนน 375 เสียงในการเป็นนายกฯ
ทำไมพิธาจึงยังไม่ได้เสียงสนับสนุนมากพอ?
ประเด็นหลักที่ถูกอภิปรายในการลงคะแนนเลือกนายกฯ ครั้งที่แล้วคือ แผนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มอนุรักษนิยมมองว่าเป็นการ “ข้ามเส้น” ขณะที่มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทย ฉบับพ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
นอกจากนี้ นโยบายอื่น ๆ ของพรรคก้าวไกลยังมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูป เช่น การลดการผูกขาดทางธุรกิจ การปฏิรูปองค์กรที่ไม่ถูกแตะต้องมานาน ซึ่งอาจขัดผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจบางกลุ่มหากพิธาได้ขึ้นเป็นนายกฯ
หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล หนึ่งในองค์กรหลักที่อาจเสียผลประโยชน์คือกองทัพไทย ที่มีจุดยืนจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และมีบทบาทในการก่อรัฐประหารรวมทั้งฉีกและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยรอยเตอร์มองว่า เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกตนและกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมานานหลายสิบปี
ทั้งนี้ กลุ่มสว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตของกลไกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างโดยคสช. ซึ่งเป็นผู้ก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557
พิธาจะคว้าชัยในการลงคะแนนครั้งที่สองได้หรือไม่?
หัวหน้าพรรคก้าวไกลหวังว่าเขาจะคว้าเสียงได้มากพอครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่าพรรคก้าวไกลและพันธมิตรจะล็อบบี้เสียงทั้งสองสภาได้มากถึง 375 เสียง
เมื่อวันอังคาร พรรคสายอนุรักษนิยมสามพรรค ที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรของพรรคก้าวไกลและมีส.ส. รวมกัน 106 ที่นั่ง เผยว่า ไม่สามารถสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ได้
รอยเตอร์รายงานว่า พรรคก้าวไกลเชื่อว่าสว.ถูกแรงกดดันให้ไม่สนับสนุนพิธาโดยไม่เต็มใจ โดยกลุ่มสว. เผชิญแรงวิจารณ์อย่างหนักหลังการลงคะแนนครั้งแรกว่า พวกเขาลงคะแนนเสียงขัดกับเจตจำนงผลการเลือกตั้ง และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กระแสสังคมจะทำให้สว. เปลี่ยนใจได้หรือไม่
พิธาเผชิญอุปสรรคอื่นอีกหรือไม่?
รอยเตอร์มองว่า สว.บางรายอาจคัดค้านการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ญัตติที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอจะไม่สามารถถูกยื่นอีกครั้งได้ ซึ่งการคัดค้านอาจชะลอขั้นตอนการลงคะแนนออกไป
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังกังวลว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของพิธา จากกรณีถือครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น โดยศาลมีกำหนดพิจารณาคดีในวันพุธ ซึ่งเป็นวันเดียวกับการลงคะแนนเลือกนายกฯ รอบสองของสภา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งวันก่อนการลงคะแนนเลือกนายกฯ ครั้งแรก ศาลรัฐธรรมนูญเผยว่า ได้รับคำร้องกรณีที่พิธาและพรรคก้าวไกลมีนโยบายเกี่ยวกับม. 112 ว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
จะเกิดอะไรขึ้นหากพิธายังไม่ได้รับเสียงมากพอ?
หัวหน้าพรรคก้าวไกลเผยว่า เขาจะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับสอง เสนอชื่อหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นมาแทน เพื่อให้ได้นายกฯ และให้กลุ่มพันธมิตรพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ยังคงจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับชัยชนะมายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย เคยถูกรัฐประหารมาแล้วสองครั้ง และอาจเผชิญกับอุปสรรคทางกลไกสภาได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากพรรคเพื่อไทยยังคงจับมือกับพรรคก้าวไกลต่อไป
พรรคเพื่อไทยจะคว้าเก้าอี้นายกฯ ได้หรือไม่?
เมื่อวันอังคาร แพทองธาร ชินวัตร หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคนนอก เผยว่า พรรคเพื่อไทยเล็งเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ อีกคนหนึ่งของพรรค โดยนักธุรกิจวัย 60 ปีผู้นี้ เป็นมือใหม่ทางการเมืองที่มีประสบการณ์ด้านอสัหาริมทรัพย์ และได้รับความนิยมในวงการธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงไม่มากพอ เพื่อไทยอาจต้องทำข้อตกลงกับพรรคสายอนุรักษนิยม เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พรรคก้าวไกลก็อาจไม่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรด้วยอีกต่อไป
รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า หากเป็นเช่นนั้น แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ วัย 77 ปี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารโค่นรัฐบาลตระกูลชินวัตรทั้งสองครั้ง อาจเป็นแคนดิเดตที่เป็นไปได้อีกคน โดยพลเอกประวิตรมักกล่าวว่า ตนเป็นผู้นำที่สร้างความปรองดองทางการเมืองได้
- ที่มา: รอยเตอร์