ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ - สหราชอาณาจักร จับตาการเมืองไทย ย้ำหนุนเลือกตั้งที่สะท้อนเสียง ปชช.


Pro-democracy activists set off on motorbikes from the Democracy Monument during a car mob protest in Bangkok on July 16, 2023 as they call on Thailand's senators to vote for Move Forward Party leader Pita Limjaroenrat in the upcoming vote for prime minis
Pro-democracy activists set off on motorbikes from the Democracy Monument during a car mob protest in Bangkok on July 16, 2023 as they call on Thailand's senators to vote for Move Forward Party leader Pita Limjaroenrat in the upcoming vote for prime minis

สหรัฐฯ แสดงความกังวลในวันจันทร์ หลังมีการเดินเรื่องทางกฎหมายต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมย้ำสนับสนุนการเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงประชาชน ตามรายงานของรอยเตอร์

ก่อนที่รัฐสภาไทยเตรียมจัดการอภิปรายครั้งที่ 2 ในวันพุธ ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะสามารถได้รับการเสนอชื่อได้อีกหรือไม่ หลังจากเขาได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงเป้าในการลงคะแนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม

ทางการสหรัฐฯ ซึ่งแทบไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเลือกตั้งไทยในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แมทธิว มิลเลอร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่ได้มีผลลัพธ์ในการเลือกตั้งที่อยากจะให้เกิด แต่สหรัฐฯ สนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนไทย

“เรากำลังจับตาอย่างใกล้ชิดถึงพัฒนาการหลังการเลือกตั้ง – ซึ่งรวมถึงพัฒนาการด้านระบบกฎหมายของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล” มิลเลอร์ กล่าว

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยรับคำร้องเรื่องแผนปรับแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายพิธาและพรรคก้าวไกล และการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลพิจารณาว่านายพิธาขาดคุณสมบัติในการลงเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ด้วยเหตุผลว่าเขามีหุ้นในบริษัทสื่อ ซึ่งเป็นเงื่อนไขต้องห้ามของการลงเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความกังวลว่าศาลรธน.จะถือว่าแคนดิเดตนายกฯ รายนี้ขาดคุณสมบัติ หรืออาจสั่งยุบพรรคก้าวไกลได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว มิลเลอร์ กล่าวว่า เขาจะไม่ “คาดคะเนเกี่ยวกับการรับมือกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น” แต่ได้ย้ำอีกครั้งว่าประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ในวันที่ 18 กรกฎาคม แอนน์-มารี เทรเวลเลียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา ฝ่ายกิจการอินโด-แปซิฟิก ของสหราชอาณาจักร ตอบกระทู้คำถามในสภาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยที่ถามโดยสมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษ์นิยม แอนดี สลอเธอร์

สลอเธอร์ถามว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ มีแนวโน้มว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะยังไม่ได้รับการรับรองโดยสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐบาลทหารทั้งหมด จึงมีคำถามว่ารัฐมนตรีต่างประเทศได้มีท่าทีอย่างไรต่อทางการไทยหรือไม่ ในการที่จะให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป

เทรเวลเลียนกล่าวว่า “เรายอมรับการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อประชาธิปไตยผ่านจำนวนผู้ออกมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม และเราคาดหวังที่จะร่วมงานกับรัฐบาลใหม่ เรายังคงทำงานอย่างใกล้ชิดผ่านทีมของพวกเราในไทย เพื่อสนับสนุนเหล่าผู้ที่จะเป็นกลุ่มในรัฐสภาต่อไป”

  • ที่มา: รอยเตอร์, รัฐสภาสหราชอาณาจักร
XS
SM
MD
LG