ฝรั่งเศสจับตานักลงทุนญี่ปุ่นที่อาจย้ายออกจากอังกฤษหลังแยกตัวอียู

Pro-EU membership supporters hold European Union flags as they protest against Brexit across the street from the Houses of Parliament in London, Tuesday, Jan. 30, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

ฝรั่งเศสจับตานักลงทุนญี่ปุ่นที่อาจย้ายออกจากอังกฤษหลังแยกตัวอียู

ทีมเจรจา Brexit ของอังกฤษไม่ชัดเจนว่าต้องการความสัมพันธ์แบบใดกับอียู (EU - European Union) ในอนาคต ขณะที่กลัวกันว่าอังกฤษจะเเยกตัว “แบบดิ่งเหว”

ในการเจรากันครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นายมิเชล บาร์นิแยร์ (Michel Barnier) หัวหน้าผู้เจรจาแห่งสหภาพยุโรป กล่าวเเสดงความคับข้องใจที่ทีมเจรจาจากอังกฤษยังไม่มีรายละเอียด ว่าอังกฤษต้องการความสัมพันธ์เเบบใดกับสหภาพยุโรปหลังแยกตัวออกจากอียู

นายบาร์นิแยร์ กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวที่กรุงบรัสเซลส์ว่า ทางทีมผู้เจรจาของอียูได้เห็นด้วยกับทีมเจรจาของอังกฤษในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไอร์เเลนด์ การกำกับดูแลข้อตกลงถอนตัว เเละประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่าย เขากล่าวด้วยว่า ทางทีมงานคาดหวังว่าทีมอังกฤษจะเเจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตที่อังกฤษต้องการมีกับอียู เเต่อังกฤษกลับไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้

หัวหน้าทีมเจรจาแห่งอียู เตือนว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเห็นพ้องกันในเรื่องของข้อบังคับทางกฏหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการด้านเขตชายแดนในอนาคต ระหว่างไอร์เเลน์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐไอร์เเลนด์

อังกฤษชี้ว่า ต้องการทำการค้าเเบบไม่มีการเเบ่งสัดส่วนกับอียูภายหลัง Brexit แต่ยังต้องการเสรีภาพในการทำข้อตกลงทางการค้ากับชาติอื่นๆอีกด้วย

เเต่ โจนาธาน พอร์ทเทส นักวิเคราะห์เเห่ง โครงการ Changing Europe ที่มหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King' s College London) กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษแตกเเยกอย่างมากในเรื่องของรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอียูในอนาคต ส่งผลให้การเจรจายากมากขึ้น

บทวิเคราะห์ของทางการอังกฤษที่ถูกลอบเปิดเผยชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษจะลดลงเกือบ 8 เปอร์เซ็นต์ หลังจากออกจากอียู

ในขณะเดียวกัน ทูตญี่ปุ่นประจำอังกฤษ เตือนว่าบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นอาจจะถอนตัวออกจากอังกฤษ หากประสบกับค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจที่สูงขึ้นหลัง Brexit

ก่อนหน้าการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษ นางเทเรซ่า เมย์ (Theresa May) กับบรรดาผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง เอกอัคราชทูตญี่ปุ่น นายโคจิ ซึรุโอกะ (Koji Tsuruoka) กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวว่า หากไม่มีกำไรในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอังกฤษ คงไม่มีบริษัทเอกชนใดที่จะดำเนินธุรกิจในอังกฤษต่อไป ไม่เฉพาะบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในอังกฤษเพราะได้รับเเรงดึงดูดจากข้อตกลงเรื่องการปลอดภาษีนำเข้าสู่ยุโรป บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า ผลิตรถยนต์เป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนรถยนต์ของอังกฤษ ในขณะที่บรรดาบริษัทยา บริษัทเทคโนโลยี เเละธนาคารของญี่ปุ่น ได้ว่าจ้างงานในอังกฤษหลายพันตำเเหน่ง

ด้านฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศคู่เเข่งของอังกฤษ กำลังจับตามองการลงทุนของญี่ปุ่นตาเป็นมัน

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส นายชอง-อีฟ เลอ ดารีออง (Jean-Yves Le Drian) ได้ไปเยี่ยมญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เเละได้กล่าวว่าไม่มีความหวังอีกแล้วว่าอังกฤษจะกลับลำเปลี่ยนใจอยู่กับอียูต่อไป

เลอ ดาครีออง (Le Drian) บอกกับผู้สื่อข่าวว่า นี่ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจบอกกับบริษัทญี่ปุ่นว่า ฝรั่งเศสเป็นทางเลือกที่ดีของการลงทุนหลังอังกฤษออกจากอียู

อังกฤษและสหภาพยุโรปต่างต้องการให้ช่วงของการเปลี่ยนถ่ายหลังการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปง่ายแก่ภาคธุรกิจ

พอร์ทเตส นักวิเคราะห์เเห่งมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่าความต้องการนี้น่าจะส่งผลให้อังกฤษต้องยอมรับให้อียูเป็นผู้ออกกฏระเบียบทั้งหมด เเละอังกฤษจะไม่มีปากมีเสียงเลย เเต่จะต้องจ่ายเงินต่อไป ซึ่งเป็นยาขมที่อังกฤษกลืนไม่ลง

เเละในขณะที่เริ่มมีการนับถอยหลังไม่ถึง 1 ปีก่อนที่ Brexit จะมาถึง เเรงกดดันกำลังเพิ่มขึ้นจากคู่ค้าของอังกฤษทั้งจากทั่วโลกและในสหภาพยุโรป เพื่อให้อังกฤษมีความชัดเจนว่าต้องการอะไรในอนาคตหลังจากแยกออกจากสหภาพยุโรป

(รายงานจาก Henry Ridgewell / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)