ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และความเคลือบแคลงสงสัย กำลังปกคลุมการเจรจาเรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit เมื่อดูเหมือนทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะแย่งชิงการเป็นผู้คุมเกมในการเจรจาดังกล่าว
เป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้วที่เจ้าหน้าที่ของอังกฤษและสหภาพยุโรปต่างพยายามเตือนว่า การเจรจาต่อรองที่สลับซับซ้อนเรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit กำลังเกิดรอยร้าวลงลึก เนื่องจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน
บรรดาสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษกล่าวหาว่า ผู้แทนการเจรจาของสหภาพยุโรปพยายามหาทางเอาคืน จากกรณีที่ประชาชนอังกฤษออกเสียงแสดงประชามติให้แยกตัวออกจาก EU เมื่อปีที่แล้ว
โดยทาง EU ยืนยันว่า อังกฤษต้องจ่ายเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์เป็นค่าแยกตัวออกจาก EU ก่อนที่ทาง EU จะยินยอมเจรจาเรื่องการทำข้อตกลงการค้ากับอังกฤษหลังแยกตัวออกไปแล้ว
อดีตประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป Roman Prodi ให้สัมภาษณ์กับ นสพ.ในอังกฤษ ในสัปดาห์นี้ ว่าการเจรจาระหว่าง รมต.ด้าน Brexit ของอังกฤษ David Davis กับหัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรป Michel Barnier เริ่มต้นได้ไม่ดีนัก (และดูเหมือนจะเจ็บตัวกันไปทั้งสองฝ่าย)
นาย Prodi บอกด้วยว่า ท่าทีเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของอังกฤษหลังการแยกตัว
ด้านอดีต รมต.ช่วยต่างประเทศของอังกฤษ Simon Fraser เห็นด้วยว่า กระบวนการเจรจาระหว่างอังกฤษกับ EU ในขณะนี้ ยังไม่เห็นผลในเชิงบวก และว่าในส่วนของรัฐบาลอังกฤษเองก็ดูเหมือนยังไม่ชัดเจนกับทิศทางที่อังกฤษจะมุ่งไป ภายหลังหย่าขาดจาก EU แล้ว
แต่โฆษกของนายกฯ อังกฤษ Theresa May ออกมาปฏิเสธความเห็นเชิงลบเหล่านั้น โดยบอกว่า การเจรจาคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเชื่อว่าร่างกฎหมายว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU จะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. ซึ่งจะรวมถึงประเด็นสำคัญๆ อย่างเช่น มูลค่าเงินที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับ EU รวมทั้งอนาคตของชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศในสหภาพยุโรป และของชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในอังกฤษด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ EU ยังคงเคลือบแคลงสงสัยต่อความต้องการของอังกฤษ โดยระบุว่ารัฐบาลอังกฤษยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับ EU ในอนาคต
และเมื่อวานนี้ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติของอังกฤษ นาย Sam Woods ได้มีคำเตือนถึงผลเสียทางเศรษฐกิจที่จะตามมา หากอังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการจัดทำข้อตกลงทางการค้าเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการเงินและการธนาคารของอังกฤษ
เวลานี้ ดูเหมือนรัฐบาลอังกฤษได้มีความเห็นขัดแย้งกันเป็นสองฝ่าย ในประเด็นที่ว่าอังกฤษควรถูกรวมอยู่ในระบบตลาดเดี่ยวและระบบศุลกากรเดียวกันกับ EU หลังแยกตัวออกไปแล้วหรือไม่ หรือจะแยกออกมาทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงแยกระบบตลาดออกมาด้วย หรือที่เรียกว่า Hard Brexit
โดยบรรดาผู้สนับสนุน Hard Brexit บอกว่าหากอังกฤษยังอยู่ในระบบตลาดเดียวกับ EU จะทำให้อังกฤษไม่สามารถเจรจาข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับประเทศที่อยู่นอก EU ได้ และยังยอมรับประชาชนของประเทศอื่นในสหภาพยุโรปให้เข้ามาอยู่ในอังกฤษอย่างเสรีต่อไป
ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจความเห็นของคนอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าคนอังกฤษส่วนใหญ่เป็นกังวลต่อการเจรจาเรื่อง Brexit โดย 60% ไม่ยอมรับการทำงานของรัฐบาลอังกฤษชุดนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับ Brexit เพิ่มขึ้นจากระดับ 17% เมื่อเดือน เม.ย.
ซึ่งความกังวลนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษด้วย หลังจากรายงานสำรวจชี้ให้เห็นว่า ราคาบ้านและกิจกรรมต่างๆ ในตลาดบ้านของอังกฤษเวลานี้กำลังชะงักงัน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Jamie Dettmer)