ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'อังกฤษ' อาจสูญเสียอิทธิพลในเวทีโลกหลังแยกตัวจากอียู


Anti-Brexit protesters demonstrate outside the Houses of Parliament in London, Britain, Dec. 13, 2017.
Anti-Brexit protesters demonstrate outside the Houses of Parliament in London, Britain, Dec. 13, 2017.

นักวิเคราะห์ชี้อังกฤษต้องสร้างบทบาทใหม่ในเวทีโลกหลัง Brexit

คำว่า “ตัวเล็กเเต่หมัดหนัก” เป็นคำพูดเปรียบเปรยที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษคนหนึ่งเคยใช้ เพื่ออธิบายถึงบทบาทที่สำคัญในเวทีโลกของอังกฤษ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา มักมีการใช้คำเปรียบเปรยนี้หลายครั้งกับบทบาทในระดับโลกของประเทศเเห่งนี้

เเต่ ลุค เเม็คดอนา (Luke McDonagh) นักวิเคราะห์เเห่งมหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ลอนดอน (City University London) กล่าวว่า ความเเรงของหมัดที่ต่อยนี้กำลังอ่อนลง

เขากล่าวว่า การเเยกตัวจากสหภาพยุโรปจะส่งผลให้อังกฤษถูกมองว่าเป็นเพียงเเค่เศรษฐกิจขนาดกลางเท่านั้น ในโลกที่เเบ่งเป็นพรรคเป็นพวกมากขึ้น โดยมีประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศกำลังเเก่งเเย่งกันในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีนเเละสหภาพยุโรป

เเละในศตวรรษหน้า จะมีประเทศเศรษฐกิจขนาดยักษ์ใหม่ๆ เข้าสู่สังเวียนการเเข่งขันระดับโลกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อเมริกาใต้ เเละแอฟริกา

จึงเกิดคำถามว่า เเล้วบทบาทของอังกฤษจะเป็นอย่างไรในเวทีโลก?

เเม็คดอนากล่าวว่า สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอังกฤษเริ่มหมดบทบาทของตนในเวทีโลกลง เกิดขึ้นในตอนที่อังกฤษเสียที่นั่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือ ICJ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยหลังจากเเย่งชิงตำเเหน่งในสหประชาชาติมานานพักใหญ่ ลอนดอนตัดสินใจถอนตัวผู้สมัครของตน ปล่อยให้ผู้พิพากษาจากอินเดียเข้าไปนั่งเเทนในตำเเหน่งที่อังกฤษครองมากนาน ตั้งเเต่มีการก่อตั้งศาลแห่งนี้ในปี ค.ศ.1946

เเม็คดอนากล่าวว่า เกมส์เเย่งอำนาจในปัจจุบันต่างจากอดีตเมื่อปี ค.ศ.1945 เเละมีคำถามว่า คณะมนตรีความมั่นคงเเห่งสหประชาชาติจะคงรูปคงร่างเเบบนี้ไปอีกนานเเค่ไหน?

อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่าคงเป็นไปได้ยากที่อังกฤษจะเสียตำเเหน่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงเเห่งสหประชาชาติในอนาคตอันใกล้

ริชาร์ด เกาวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสหประชาชาติเเห่งคณะมนตรียุโรปด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ เเสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ชาติมหาอำนาจส่วนใหญ่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ เเละจีน ไม่ต้องการเห็นการปฏิรูปเเบบหน้ามือเป็นหลังมือใดๆ ในสหประชาชาติในอนาคตอันใกล้

อังกฤษยืนยันว่าจะไม่ปิดตัวจากโลกภายนอก เเละกลายเป็นประเทศที่เน้นความเป็นอังกฤษอย่างเดียวเท่านั้น ความทะเยอทะยานหลัง Brexit ของรัฐบาลอังกฤษคือการสร้างประเทศที่อังกฤษเรียกว่า "Global Britain"

เกาวันกล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจะสามารถใช้เเหล่งทรัพยากรของตนในกิจการของสหประชาชาติมากขึ้น เพราะจะไม่เน้นสหภาพยุโรปอีกต่อไป

เเต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อไม่มีเเรงหนุนจากชาติอียูอื่นๆ 27 ชาติ อังกฤษจะประสบกับความยากลำบากในการมีอิทธิพลต่อการถกเถียงหรืองานประชุมของยูเอ็นที่เกี่ยวกับกิจการด้านมานุษยธรรม การพัฒนาหรือความมั่นคง

เกาวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสหประชาชาติเเห่งคณะมนตรียุโรปด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ โต้เเย้งว่า อังกฤษจำเป็นต้องมียุโรปอยู่ข้างตนต่อไป หากอังกฤษถูกมองว่ากำลังเข้าหาสหรัฐฯ เพื่อหาพรรคพวก อังกฤษจะสูญเสียมิตรภาพที่ดีจากสหภาพยุโรปอย่างรวดเร็ว

ในการหาทางสร้างบทบาทใหม่ในเวทีโลก นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าอังกฤษจะต้องสร้างพันธมิตรกลุ่มใหม่ ในขณะที่ยังรักษาพันธมิตรเก่าเอาไว้ เเละหาทางลดความรุนเเรงของปัญหาในบ้านตนเองลง

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG