ประชามติ 'Brexit' รอบสอง มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่??

Anti-Brexit protesters demonstrate opposite the Houses of Parliament in London, Britain, January 16, 2018.

นายกรัฐมนตรีอังกฤษพยายามสร้างความเห็นพ้องท่ามกลางความแตกแยกในพรรครัฐบาล

Your browser doesn’t support HTML5

มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้ทำประชามติ Brexit ครั้งที่สอง

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นในอังกฤษ ให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับ Brexit ครั้งที่สอง

โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของบริษัท BMG Research พบว่า ชาวอังกฤษ 57% สนับสนุนให้ทำประชามติครั้งที่สองในเรื่องดังกล่าว โดยเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้น 3% จากผลการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

กระแสความรู้สึกที่เปลี่ยนไปนี้มีขึ้นในขณะที่นายกรัฐมนตรี เธเรซ่า เมย์ (Theresa May) ของอังกฤษ กำลังพยายามสร้างความเห็นพ้องภายในคณะรัฐมนตรีของเธอเอง ซึ่งมีความแตกแยกทางความคิดเกี่ยวกับเงื่อนไขข้อตกลงที่อังกฤษกำลังเจรจากับสหภาพยุโรปโดยเฉพาะเรื่องรูปแบบความสัมพันธ์ที่จะเหลืออยู่หลังจากที่อังกฤษพ้นสถานะสมาชิกของสหภาพยุโรปในปีหน้า

โดยนายกรัฐมนตรี Theresa May มักจะพบกับข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากคณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลตลอดเวลา และจุดยืนหรือข้อเรียกร้องที่แตกต่างกันจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอังกฤษนั้น มีตั้งแต่การยุติความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปโดยสิ้นเชิง ไปจนถึงการรักษาความสัมพันธ์ในบางส่วนไว้ ซึ่งจะทำให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกในตลาดร่วมยุโรปอยู่ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง หรือต้องผูกพันกับการตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ จากสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ของสหภาพยุโรป

ในขณะที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเงื่อนไขของการแยกตัว เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ก็มีสัญญาณบ่งชี้เรื่องความกังวลใจในหมู่สาธารณชนของอังกฤษเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต

โดยเหตุผลส่วนหนึ่งดูจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษในปัจจุบัน ประกอบกับความสลับซับซ้อนของเงื่อนไขในการหย่าขาดจากสหภาพยุโรป

รวมทั้งการที่หน่วยงานบริการสุขภาพระดับชาติของอังกฤษหรือ National Health Service กำลังมีปัญหา และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่เป็นชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาทำงานทดแทนพลเมืองอังกฤษนั้น ไม่ต้องการทำงานอยู่ในอังกฤษต่อไป หลังจากอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายไนเจล ฟาราจ (Nigel Farage) อดีตผู้นำพรรค UK independent ผู้สนับสนุนเรื่อง Brexit ตั้งแต่แรก ออกมาจุดประกายเรื่องการแสดงประชามติครั้งที่สอง โดยกล่าวว่า ความคิดของตนได้เปลี่ยนไป

และก่อนหน้านี้นายโทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษของพรรคแรงงาน รวมทั้งนายนิค เคลกก์ (Nick Clegg) อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายเดวิด แคเมอรอน (David Cameron) ก็ได้เรียกร้องเรื่องการแสดงประชามติครั้งที่สองเช่นกัน

ทางด้านผู้นำของสหภาพยุโรปเอง เช่น นายโดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) ประธานสหภาพยุโรป และนายฌอง-คล้อด ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวว่าสหภาพยุโรปยังคงเปิดพร้อมต้อนรับอังกฤษอยู่เสมอ

และถึงแม้ในขณะนี้จะยังไม่มีใครกล้าวางเดิมพันว่า จะมีการแสดงประชามติเรื่อง Brexit ครั้งที่สองหรือไม่ แต่นายแอนดรูว์ รอว์นสลีย์ (Andrew Rawnsley) นักเขียนคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ The Guardian ก็เปรียบเทียบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือการเปลี่ยนใจและความรู้สึกเสียดายของผู้ที่ซื้อสินค้าราคาแพง

โดยเหตุผลที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่เรื่องราวซึ่งมีความสำคัญระดับนี้ ถูกตัดสินด้วยคะแนนที่ไม่ต่างกันมากนัก คือ 17 ล้าน 4 แสนเสียงหรือ 52% สำหรับผู้ที่สนับสนุนเรื่องการแยกตัวของอังกฤษ เมื่อเทียบกับ 16 ล้าน 1 แสนเสียง หรือ 48% จากผู้ที่ต้องการให้อังกฤษอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปต่อไป จากผลการแสดงประชามติเรื่อง Brexit เมื่อกลางปี พ.ศ. 2559