Your browser doesn’t support HTML5
ผลการศึกษาชี้ว่าการซ่อมเเซมเนื้อเยื่อในดวงตาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้อีกครั้ง มีส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองสร้างการเชื่อมโยงสัญญาณทางประสาทใหม่ๆ ขึ้นมาในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น
เมื่อปีคริสตศักราช 2007 หรือ ราวห้าปีที่แล้ว Dr. Jean Bennett จักษุแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้ทดลองในยีนบำบัดเพื่อรักษาอาการตาบอดแต่กำเนิดในเด็กเล็ก โดยบำบัดตาเพียงหนึ่งข้างของผู้ป่วยแต่ละคน
Dr. Jean Bennett กล่าวว่ายีนบำบัดได้ผลอย่างมาก เพราะก่อนเข้ารับการบำบัดผู้ป่วยต้องคอยจับมือพ่อแม่อยู่ตลอดเวลาเนื่องจากมองไม่เห็น แต่หลังจากการบำบัดด้วยยีน เด็กเหล่านี้สามารถปั่นจักรยานไปบ้านเพื่อนได้และเล่นกีฬาได้
สองปีหลังจากการบำบัด ทีมงานต้องการศึกษาว่าการมองเห็นมีผลต่อการทำงานของเส้นประสาทในสมองอย่างไร
คุณ Manzar Ashtari สมาชิกในทีมวิจัยทำการสแกนสมองของผู้ป่วยเด็ก 10 คน ในการทดลองเพื่อดูการส่งสัญญาณทางประสาทจากดวงตาไปยัง สมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็น แล้วเปรียบเทียบภาพสแกนสมองของผู้ป่วยตาบอดที่ได้รับการบำบัดด้วยยีนกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการบำบัด และยังนำไปเทียบกับภาพสแกนสมองของคนที่ดวงตามองเห็นเป็นปกติดี อีกด้วย
คุณ Ashtari กล่าวว่าการส่งสัญญาณประสาทในสมองของผู้ป่วยตาบอดที่ได้รับการบำบัดแล้ว มีความคล้ายคลึงกับภาพสแกนสมองของผู้ที่สายตาเป็นปกติ ส่วนสัญญาณสมองในผู้ป่วยตาบอดที่ไม่ได้รับการบำบัด ดูแล้วไม่ปกติ สัญญาณสมองในส่วนของการมองเห็นนี้อ่อนแอมาก
หลังจากผลการบำบัดช่วงแรกออกมาได้ผลน่าพอใจ ทีมนักวิจัยเริ่มรักษาดวงตาอีกข้างหนึ่งของผู้ป่วยแต่ละคนด้วยยีนบำบัด คุณ Ashtari กล่าวว่าผลการบำบัดดวงตาข้างที่เหลือได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง
การศึกษาหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมาในแมวและลิง ชี้ว่าสมองของสัตว์เหล่านี้สามารถสร้างการเชื่อมต่อสัญญาณประสาทใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกครั้ง หลังจากได้รับการบำบัดให้ดวงตามองเห็นได้อีกครั้ง
แต่การศึกษาครั้งล่าสุดของทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียนี้เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงว่าสมองของคนก็มีความสามารถแบบเดียวกันนี้