Your browser doesn’t support HTML5
แต่ละปีมีคนอเมริกันป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนราว 53,000 คนต่อปี ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตภายใน 1 ปี
แพทย์ชี้ว่าการตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งชนิดนี้ได้ และงานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า การตรวจเลือดอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งตับอ่อนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งอีกหลายชนิดนั้นมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น และกว่าผู้ป่วยจะทราบว่าตนเป็นมะเร็งก็มักเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่เริ่มมีการแสดงอาการออกมา และเป็นระยะที่ทำการรักษาได้ยาก
รายงานวิจัยพบว่าอัตราการมีชีวิตอยู่เป็นเวลา 5 ปีของผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนนั้น อยู่ที่ระดับ 7% เท่านั้น และคาดว่ามะเร็งชนิดนี้จะกลายเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนอเมริกันมากเป็นอันดับ 2 ภายในปี ค.ศ. 2020
แต่ขณะนี้นักวิจัยเชื่อว่าสามารถค้นพบสารส่อมะเร็งในตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจพบมะเร็งตับอ่อนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และหมายถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการรักษาโรคนี้
ปกติแล้ว วิธีวินิจฉัยสารส่อมะเร็งที่ใช้กันทั่วไปนั้น คือการตรวจสารส่อมะเร็งประเภทโปรตีนที่เป็นตัวบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ PSA สามารถใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แพทย์ชี้ว่า สารส่อมะเร็งตับอ่อนนั้นอาจเพิ่มขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัย คือไม่ใช่แค่เพราะมะเร็งอย่างเดียว เช่น อาจเกิดอาการอักเสบที่ตับอ่อน หรือการอุดตันของท่อน้ำดี ดังนั้นการตรวจแบบ PSA จึงอาจไม่ให้ผลที่ชัดเจนนักสำหรับมะเร็งตับอ่อน
แต่ขณะนี้ นักวิจัยที่ University of Pennsylvania สามารถค้นพบโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่ง ที่อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งตับอ่อนในระยะเริ่มต้นได้ เรียกว่า THBS2
รายงานที่ตีพิมพ์ในสารวารการแพทย์ Science Translational Medicine ชี้ว่า วิธีตรวจเลือดเพื่อหาโปรตีนดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในช่วงของการทดลองนั้น มีความแม่นยำราว 87% สำหรับตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนในระยะที่ 1 และ 2 และ 98% สำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้
ถึงกระนั้น นักวิจัยชี้ว่า การทดลองดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเป็นการทำขึ้นในห้องแล็บ โดยที่ยังไม่เคยทดลองกับผู้ป่วยจริงๆ
เป้าหมายหลักของงานวิจัยนี้ คือการตรวจพบมะเร็งตับอ่อนก่อนที่จะไปถึงระดับที่ทำให้มีโอกาสรอดชีวิต 13% หรือในระยะที่ 1
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก CBS มาเสนอ)