รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เตรียมเดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 'กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก' ของรัฐบาลสหรัฐฯ
รมต.บลิงเคน มีกำหนดการเดินทางเยือนอังกฤษในวันที่ 9 ธันวาคม เพื่อร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกกลุ่ม G-7 ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย จบลงด้วยการเยือนรัฐฮาวายในวันที่ 17 ธันวาคม ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันพุธ
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม G-7 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันพฤหัสบดีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วยเป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐมนตรีบลิงเคนจะพบหารือกับรัฐมนตรีของอาเซียนเป็นรายประเทศ ก่อนที่จะเดินทางเยือนสามประเทศในอาเซียนต่อไปในสัปดาห์หน้า
SEE ALSO: สหรัฐฯ ประกาศพัฒนา “กรอบแผนงานเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก”
วาระสำคัญเยือนอินโดฯ มาเลเซีย ไทย
ที่กรุงจาการ์ตา รมต.บลิงเคนจะกล่าวปราศรัยถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกด้วย
ส่วนที่มาเลเซียและไทย รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับทั้งสองประเทศนี้ ซึ่งรวมถึงการหาทางรับมือความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การระบาดของโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก วิกฤติภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคนี้
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทวีตข้อความว่า รมต. บลิงเคนจะเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม โดยมีกำหนดหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงมีกำหนดรับประทานอาหารกับภาคเอกชนของไทย
นายธานียังระบุด้วยว่า การเดินทางเยือนของ รมต. บลิงเคน จะเป็น "โอกาสในการพัฒนาพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ พัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และพัฒนาความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองประเทศมีประโยชน์ร่วมกัน"
กระทรวงการต่างประเทสสหรัฐฯ ระบุว่า รมต.บลิงเคนจะหารือถึงวิกฤติการณ์ในเมียนมากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซียและไทยด้วย
กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก 2022
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศเริ่มโครงการยุทธศาสตร์ใหม่ "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" ในต้นปีหน้า ซึ่งจะรวมถึงการขยายความเป็นพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทานสินค้า พลังงาน และเศรษฐกิจดิจิทัล
นายโฮเซ่ เฟอร์นานเดซ รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก คือส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะไม่ใช่แค่ภูมิภาคนี้มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกและมีสัดส่วนของจีดีพีราว 60% ของจีดีพีโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 7 แห่งใน 15 แห่งสำหรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสินค้าระหว่างอเมริกากับอินโด-แปซิฟิก อยู่ที่ระดับมากกว่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจกำลังถูกจีนทิ้งห่างในด้านการสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจในอาเซียน
SEE ALSO: วิเคราะห์แนวคิด “ความเป็นหุ้นส่วนกัน” ของอาเซียน-จีน ท่ามกลางปัญหาทะเลจีนใต้
ซูซานนาห์ แพตตัน นักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศที่ United States Studies Center ในนครซิดนีย์ ให้ความเห็นต่อวีโอเอว่า ในขณะที่ประเทศในอาเซียนต้องการแรงสนับสนุนทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่โครงการ "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" นี้อาจยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่อาเซียนคาดหวังไว้
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า หลังจากที่เกิดข้อตกลง RCEP ขึ้นมา ทำให้เวลานี้มีข้อตกลงการค้าฉบับใหญ่สองฉบับในเอเชีย คือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ซึ่งสหรัฐฯ มิได้ร่วมอยู่ในทั้งสองฉบับนี้
และการที่จีนได้สมัครเข้าร่วมใน CPTPP ที่สหรัฐฯ เป็นผู้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างสัมพันธ์กับทางเอเชียก่อนที่จะถอนตัวออกไปในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยิ่งเน้นย้ำถึงการขาดหายไปของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ผลกระทบต่อ SEANWFZ และ AUKUS
กำหนดการเยือนอาเซียนของ รมต.บลิงเคน มีขึ้นในโอกาสครบรอบ 30 ปีการเจรจาอาเซียน-จีน (ASEAN-China dialogue) ซึ่งทางอาเซียนและจีนมีแถลงการณ์ร่วมกัน ประกาศความเป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม" หรือ comprehensive strategic partnership ทั้งทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังจะร่วมกันทำให้ภูมิภาคอาเซียน "ปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงอื่น ๆ" ภายใต้ยุทธศาสตร์ Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone (SEANWFZ) อีกด้วย
SEE ALSO: เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จากความร่วมมือด้านความมั่นคงสหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลียจะท้าทายอำนาจจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก
เกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative แห่ง Center for Strategic and International Studies (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า SEANWFZ คือการตอบโต้ต่อข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีด้านการทหารระหว่าง ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ หรือ AUKUS ซึ่งมีเป้าหมายต้านทานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้
นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการสนับสนุนกลุ่ม AUKUS เช่นเดียวกับความแตกต่างเรื่องการคัดค้านการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงของจีนในแถบน่านน้ำดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย