สถานการณ์สงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นจากการยกทัพบุกโดยกองทัพรัสเซียกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกจับตาดูและพูดถึงผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายอย่างมาก จนทำให้บริษัทเจ้าของสื่อเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการจำกัดการใช้งานของสื่อรัฐบาลรัสเซียไม่ให้ใช้แพลตฟอร์มของตนเป็นพื้นที่กระจายข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อรวมทั้งข้อมูลเท็จต่างๆ แล้ว
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า หลังประธานสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้มีการห้ามไม่ให้สื่อรัฐบาลมอสโกเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ไป บรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายทำการตอบรับและสั่งปิดกันสื่อกลุ่มดังกล่าวไม่ให้เข้าถึงแพลตฟอร์มของตนกันแล้ว
บริษัท กูเกิล (Google) ประกาศในวันอังคารว่า ตนได้ทำการปิดช่องยูทูบ (YouTube) ของสื่อรัฐบาลรัสเซียที่เผยแพร่ข้อมูลในยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที แต่ยอมรับว่า บริษัทต้องใช้เวลาสักพักกว่าระบบต่างๆ จะจัดการตามคำสั่งที่ว่านี้ได้เสร็จสมบูรณ์ โดยโฆษกของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งนี้เปิดเผยด้วยว่า บัญชีผู้ใช้งานของสื่อ อาร์ที (RT) และสปุตนิค (Sputnik) ผ่านแพลตฟอร์ม ติ๊กตอก (TikTok) ของจีนในยุโรป ก็ถูกระงับใช้งานไปแล้วด้วย
คำประกาศของ กูเกิล นี้มีออกมาหลัง บริษัท เมตา (Meta) เจ้าของแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าจะปิดกันไม่ให้สื่อรัฐทั้งหลายของรัสเซียใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม (Instagram) ได้
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายยังทำการปรับเปลี่ยนการให้บริการตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกด้วย เช่น การจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มโดยทำเนียบเครมลิน การขึ้นป้ายเตือนเนื้อหาเพื่อให้ผู้ใช้งานรับทราบว่า มีที่มาจากรัฐบาลรัสเซีย และการตัดหน่วยงานรัฐบาลรัสเซียไม่ให้สามารถขายพื้นที่โฆษณาเพื่อหารายได้ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ ประกาศว่า จะไม่ยอมให้มีการนำเสนอเนื้อหาหรือโฆษณาจากสื่อ อาร์ที และสปุตนิค หรือให้มีแอปของ อาร์ที ในแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายแอปของตนด้วย
ทั้งนี้ ความพยายามของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก ในการปิดกันการเข้าถึงของสื่อรัฐ ทำให้รัฐบาลมอสโกไม่พอใจอย่างมาก และทำการสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กในรัสเซียทันที
อย่างไรก็ตาม แกรห์ม เชลเลนเบอร์เกอร์ จากบริษัท มิบูโร โซลูชั่นส์ (Miburo Solutions) ซึ่งติดตามข้อมูลเท็จและแผนงานสร้างอิทธิพลต่อความคิดของผู้คน ให้ความเห็นว่า รัสเซียได้ใช้เวลาในช่วงที่ผ่านมาหลายปีในการสร้างพื้นที่กระจายข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อของตนไปทั่วโลกจนเข้าถึงผู้คนนับล้านล้านคน และประเด็นนี้จึงทำให้บริษัทเทคโนโลยีไม่สามารถดำเนินการตอบโต้อย่างรวดเร็วได้โดยง่าย
- ที่มา: เอพี