ทำเนียบเครมลินกำลังเร่งหาทางออกเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่นานาประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลชาติตะวันตกสั่งดำเนินการต่อรัสเซีย ซึ่งน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา แม้ในขณะที่ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ยังคงสั่งให้กองทัพรัสเซียเดินหน้าบุกยูเครนต่อไป ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจคาดว่า รัสเซียจะพยายามหาทางลดผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ด้วยการหันไปเร่งขายพลังงานและพึ่งพาเงินทุนสำรองของประเทศที่เป็นทองคำและเงินสกุลหยวนของจีนมากขึ้น ขณะที่ ปธน.ปูติน น่าจะทำการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านธนาคารที่มีขนาดเล็กและบัญชีของผู้มีอันจะกินทั้งหลายที่ไม่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษ รวมทั้งหันมาใช้เงินสกุลดิจิทัลมากขึ้น และพึ่งสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลกรุงปักกิ่งมากกว่าเดิม
ในเวลานี้ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ได้ดำเนินการลงโทษธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซียและบุคคลผู้มีฐานะร่ำรวยและมีชื่อเสียงของประเทศ สั่งอายัดสินทรัพย์ของธนาคารกลางรัสเซียที่ฝากไว้ในต่างประเทศ และขับสถาบันการเงินหลายแห่งออกจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT ไปแล้ว แต่ยังอนุญาตให้มีการจำหน่ายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อไปได้
เมื่อเดือนที่แล้ว รัสเซียและจีนเพิ่งลงนามในข้อตกลงอายุ 30 ปี ให้รัสเซียทำหน้าที่จัดส่งก๊าซธรรมชาติให้จีนผ่านระบบท่อส่งที่ยังอยู่ในช่วงการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จใน 3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว ขณะที่ จีนประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียเป็นครั้งแรกด้วย
อย่างไรก็ตาม จอห์น สมิธ อดีตผู้อำนวยงานฝ่ายข่าวกรองและการบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เชื่อว่า นี่จะเป็นโอกาสที่จีนจะทำการต่อรองอย่างหนัก เมื่อรัสเซียไม่มีตัวเลือกผู้ซื้อเหลือให้ร่วมงานด้วยมากนัก และกรุงปักกิ่งเองก็คงไม่ต้องการจะตกเป็นเป้าการลงโทษใดๆ เพราะรัสเซียด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน แย้งว่า จีนนั้นไม่น่าจะสามารถชดเชยความเสียหายจากการที่รัสเซียไม่สามารถทำธุรกิจกับสหรัฐฯ และยุโรปได้พอ พร้อมๆ กับการออกมาเตือนว่า การที่จีนยื่นมือเข้าช่วยเหลือรัสเซียนั้นอาจะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของตนในระยะยาว ในสายตาของชาติยุโรปและนานาประเทศทั่วโลกได้
- ที่มา: เอพี