Your browser doesn’t support HTML5
ประชุมสุดยอดไบเดน-ปูตินใช้เวลาน้อยกว่าที่คาด ทั้งสองฝ่ายตกลงส่งทูตกลับไปทำงาน เจรจาข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ใหม่และหารือเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์
การพบหารือโดยตรงครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันพุธ เสร็จสิ้นลงแล้วและใช้เวลาน้อยกว่าที่คาดคือเพียงไม่ถึงสามชั่วโมง โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นต่างๆ หลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ทั้งทำเนียบขาวและทำเนียบเครมลินได้ตั้งความหวังเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการพบปะครั้งนี้ไว้ค่อนข้างต่ำ และทำเนียบเครมลินมีคำแถลงหลังการประชุมว่าทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียได้แสดงว่า แม้จะเป็นช่วงที่มีความตึงเครียดแต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังสามารถดำเนินการคืบหน้าในเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเด็นทางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงของความขัดแย้งด้านอาวุธและภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
ส่วนประธานาธิบดีไบเดนเองก็กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญถ้าสหรัฐฯ กับรัสเซียจะสามารถสร้างเสถียรภาพและการสามารถคาดเดาสถานการณ์ในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนี้ได้
Your browser doesn’t support HTML5
หลังเสร็จสิ้นการหารือครั้งนี้แล้ว ผู้นำทั้งสองได้แถลงข่าวและตอบคำถามของสื่อมวลชนแยกจากกัน โดยทำเนียบขาวได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าประธานาธิบดีไบเดนไม่ต้องการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีปูตินเพราะไม่ต้องการยกสถานะของผู้นำรัสเซีย ในขณะที่สหรัฐฯ เองกำลังเร่งเร้าให้พันธมิตรในยุโรปช่วยกดดันรัสเซียในปัญหาเรื่องต่าง ๆ อยู่
ในส่วนของประธานาธิบดีปูตินซึ่งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนประธานาธิบดีไบเดนนั้น ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า มีการประชุมที่สร้างสรรค์กับผู้นำของสหรัฐฯ และไม่มีความเป็นปฏิปักษ์ใด ๆ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจะส่งทูตกลับไปทำงานในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ รวมทั้งจะเริ่มเจรจาสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่เพื่อใช้แทนฉบับเก่าที่จะหมดอายุลงในปี 2026 นี้ด้วย
ประธานาธิบดีปูตินยังกล่าวว่า รัสเซียกับสหรัฐฯ ตกลงในหลักการที่จะเริ่มหารือปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบไซเบอร์ ถึงแม้รัสเซียจะปฏิเสธข้อกล่าวหาจากสหรัฐฯ ที่ว่ามอสโคว์มีส่วนรับผิดชอบในการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้งทั้งในสหรัฐและทั่วโลกก็ตาม
ผู้นำรัสเซียยอมรับว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้หยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นหารือซึ่งรวมถึงเรื่องสถานะของนายอเล็กไซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีปูตินได้เลี่ยงการตอบคำถามเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมกับผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซียโดยนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์วุ่นวายในสหรัฐฯ นับตั้งแต่การประท้วง Black Lives Matter และการจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เป็นต้น
SEE ALSO: วิเคราะห์: การหารือของ “ไบเดน-ปูติน” พุธนี้ คาดหวังการเปลี่ยนแปลงได้เพียงใด
และถึงแม้จะมีประเด็นเรื่องนายอเล็กไซ นาวาลนี กับเรื่องที่องค์การนาโต้อาจพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ซึ่งประธานาธิบดีปูตินไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ผู้นำรัสเซียก็กล่าวถึงประธานาธิบดีไบเดนว่าเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ มีความสมดุลย์ เป็นผู้ที่สร้างสรรค์และสะท้อนถึงค่านิยมทางศีลธรรมด้วย
ในส่วนของผู้นำสหรัฐฯ นั้น ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สหรัฐฯ กับรัสเซียจะสร้างเสถียรภาพและความสามารถที่จะคาดเดาพฤติกรรมได้ในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งยังเคยกล่าวหลายครั้งว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างได้ผลนั้นจะมาจากพื้นฐานการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างเหนียวแน่น
โดยประธานาธิบดีไบเดนยอมรับว่าประธานาธิบดีปูตินไม่ใช่บุคคลที่ไร้ซึ่งความสามารถ และว่าประธานาธิบดีปูตินเป็นคนฉลาดที่จะไม่ยอมพ่ายแพ้อะไรง่าย ๆ รวมทั้งยังเป็นคู่ปรับซึ่งมีค่าคู่ควรอีกด้วย
แต่นอกจากคำกล่าวในแง่บวกจากการแถลงข่าวของผู้นำทั้งสองแล้ว ผู้สื่อข่าวเอพีรายงานว่า บรรยากาศระหว่างการพบปะแบบตัวต่อตัวของประธานาธิบดีไบเดนกับประธานาธิบดีปูตินดูจะเริ่มด้วยความอึดอัด เพราะทั้งสองฝ่ายเลี่ยงการสบตากันโดยตรงและภาษาท่าทางของทั้งสองฝ่ายอย่างน้อยในช่วงแรกของการให้สื่อมวลชนถ่ายภาพร่วมกันนั้นดูจะไม่ค่อยอบอุ่นหรือใกล้ชิดเท่าใดนัก
และก่อนหน้าการประชุม ทั้งทำเนียบขาวกับทำเนียบเครมลินได้พยายามลดความคาดหวังลง โดยพยายามทำให้การพบปะครั้งแรกนี้เป็นเวทีของการแสดงความไม่เห็นด้วยในปัญหาเรื่องต่าง ๆ มากกว่าที่จะเป็นโอกาสของการบรรลุความตกลงที่สำคัญใด ๆ