ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางถึงกรุงบรัสเซลล์ในวันอาทิตย์เพื่อการประชุมกับผู้นำประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ในวันจันทร์ และจะประชุมสุดยอดกับผู้นำสหภาพยุโรปในวันอังคาร ก่อนจะพบหารือแบบตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียในวันพุธ
นักวิเคราะห์มองว่า การประชุมขององค์การนาโต้ปีนี้จะเป็นโอกาสสำคัญเพื่อทบทวนเป้าหมายและยุทธศาสตร์การทำงานขององค์การสนธิสัญญาป้องกันตนเองแอตแลนติกเหนือดังกล่าว ทั้งนี้เพราะองค์การสนธิสัญญาป้องกันตนเองแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์การทำงานครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2553 และถึงแม้ปัญหาท้าทายกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจะเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
แต่นาโต้ก็ตัดสินใจไม่หารือเรื่องแนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้นำของสหรัฐฯ อยู่
นาย Dan Hamilton ผู้อำนวยการโครงการยุโรปศึกษาของศูนย์ Wilson Center อธิบายว่า ประเทศในยุโรปไม่ต้องการสร้างปัญหายุ่งยากที่ควบคุมไม่ได้ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์มักกล่าวโจมตีประเทศสมาชิกของนาโต้ว่าไม่จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานขององค์การนี้อย่างเพียงพอ รวมทั้งยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ Article 5 หรือมาตราที่ห้าของสนธิสัญญานาโต้ ซึ่งระบุว่าหากสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งขององค์การถูกโจมตีด้วยอาวุธก็จะถือได้ว่าประเทศอื่นทุกประเทศของนาโต้ถูกโจมตีด้วย และจะมีการดำเนินการตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อช่วยเหลือประเทศซึ่งถูกโจมตีโดยตรง
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในเมือง Mildenhall ของอังกฤษ ประธานาธิบดีไบเดนได้ย้ำยืนยันพันธะกรณีของสหรัฐฯ ต่อสมาชิกขององค์การนาโต้ และกล่าวว่า Article 5 หรือข้อกำหนดเรื่องการป้องกันตนเองร่วมของสมาชิกองค์การนาโต้นี้ยังมีความเหนียวแน่นและสหรัฐฯ จะยังคงยึดมั่นในข้อผูกพันที่ว่านี้ต่อไป
เมื่อวันศุกร์ นาย Sean Stoltenberg เลขาธิการองค์การนาโต้ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเรื่องลักษณะภัยคุกคามขององค์การนาโต้ที่เปลี่ยนไป และชี้ว่าเอกสารยุทธศาสตร์การทำงานขององค์การนาโต้ในปัจจุบันไม่ได้มีการระบุถึงจีนแม้แต่คำเดียว และแทบไม่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ซึ่งองค์การนาโต้มีกับรัสเซียในขณะนี้ก็ต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง เพราะขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนาโต้กับรัสเซียกำลังอยู่ที่จุดต่ำสุดตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา รวมทั้งยังมีการโจมตีทางไซเบอร์และมีปัญหาท้าทายด้านอื่นซึ่งก่อตัวขึ้นในช่วงหลังนี้ด้วย
ขณะนี้องค์การนาโต้ได้เสนอให้กองทัพและภาคเอกชนของประเทศสมาชิกพิจารณาร่วมมือกันในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งให้พิจารณาขยายความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกับประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก เช่น ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกท่ามกลางการขยายอิทธิพลของจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งซึ่งอาจเป็นปัญหาของบรรดาประเทศสมาชิกองค์การนาโต้คือ Article 10 หรือหลักการเกี่ยวกับการรับสมาชิกใหม่ซึ่งจะทำได้โดยมติเอกฉันท์ของสมาชิกเท่านั้น
แต่เรื่องนี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงในระหว่างประเทศสมาชิก เพราะขณะที่ส่วนหนึ่งมองว่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมความมีเสถียรภาพขององค์การนาโต้นั้นแต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่าจะทำให้องค์การนาโต้ใหญ่โตและมีความอุ้ยอ้ายมากเกินไป
เห็นได้ว่าองค์การนาโต้มีวาระสำคัญหลายเรื่องที่รอการหารือกับผู้นำสหรัฐฯ อยู่ แต่นักวิเคราะห์บางคน เช่น คุณ Rachel Ellehuus รองผู้อำนวยการโครงการยุโรป รัสเซียและยูเรเซีย ที่ Center for Strategic and International Studies ได้ตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้สมาชิกของนาโต้บางประเทศยังมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความตั้งใจและความผูกพันในระยะยาวของสหรัฐฯ จากการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ จากท่าทีรวมทั้งความไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคตของพรรครีพับลิกัน รวมทั้งจากความกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วด้วย