ไบเดน ย้ำ “สหรัฐฯ กลับมาแล้ว” ขณะที่นาโต้ประกาศยัน ‘จีนคือความท้าทายความมั่นคงโลก’

U.S. President Joe Biden arrives to be greeted and pose for a photograph with NATO Secretary General Jens Stoltenberg during the NATO summit at the North Atlantic Treaty Organization's headquarters, in Brussels, June 14, 2021.

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศย้ำว่า สหรัฐฯ พร้อมกลับมาทำงานร่วมกับยุโรปอีกครั้ง ในระหว่างการประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ขณะที่ ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การนี้แสดงจุดยืนความเป็นพันธมิตร พร้อมออกแถลงการณ์วิพากษ์รัสเซียและจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็น “ความท้าทายต่อความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎระเบียบโลก”

ในการประชุมกับ พลเอก เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ในวันจันทร์ ปธน.ไบเดน กล่าวยืนยันว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานภายใต้สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และยึดมั่นตามมาตรา 5 ในสนธิสัญญานี้ อันเป็น “ภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์” ที่ให้ความสำคัญกับหลักการความร่วมมือด้านกลาโหมของพันธมิตรกองทัพประเทศสมาชิกด้วย

NATO Secretary General Jens Stoltenberg holds a news conference during a NATO summit

ทั้งนี้ พลเอก ชโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่า นาโต้ตระหนักดีว่า สหรัฐฯ และยุโรปยังเป็นพันธมิตรที่พึ่งพากันและกันได้ พร้อมเปิดเผยว่า ในการประชุมนาโต้สัปดาห์นี้ ตนจะหยิบยกประเด็นภัยคุกคามที่เพิ่มสูงขึ้นจากจีนและรัสเซีย ขึ้นมาพูดคุยเช่นกัน โดยเฉพาะ กรณีกำลังทหารจีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทะเลบอลติกและในแอฟริกา ที่ทำให้ฝ่ายนาโต้ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอ

เลขาธิการนาโต้บอกกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า จีนเดินหน้านโยบายต่างๆ มาใกล้นาโต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกิจการด้านการสำรวจอวกาศ ในแอฟริกา และการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ มากมายทั่วโลก

และในวันแรกของการประชุมในกรุงบรัสเซลส์ ผู้นำประเทศสมาชิกนาโต้ทั้ง 30 ประเทศ ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า ทุกประเทศตกลงที่จะ “เริ่มต้นบทใหม่ของความสัมพันธ์คาบสมุทรแอตแลนติก” ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญกับบรรยาการด้านความมั่นคงที่ “ซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สำนักข่าว AP รายงานด้วยว่า แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า พฤติกรรมเชิงรุกรวมทั้งเป้าหมายต่างๆ ที่จีนนำเสนอออกมานั้นเป็นการท้าทายความสงบเรียบร้อยตามกฎระเบียบสากล รวมทั้งความมั่นคงของเหล่าประเทศพันธมิตรด้วย

นอกจากนั้น ที่ประชุมนาโต้ในวันจันทร์ ยังเปิดตัวกลไกด้านการประชุมหารือชุดใหม่ที่ชื่อว่า NATO 2030 ซึ่งระบุว่า “รัสเซียที่เล่นบทเชิงรุกมากขึ้น” รวมทั้ง “รูปแบบการก่อการร้ายที่โหดร้ายรุนแรงขึ้น” และประเด็นความไม่แน่นอนต่างๆ ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ เทคโนโลยีใหม่ๆ การระบาดใหญ่ทั่วโลก และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ล้วนเป็นภัยคุกคามใหม่ในเวลานี้ และมีการพูดถึง “การผงาดขึ้นมาของจีนในเวทีโลกที่ค่อยๆ เคลื่อนย้ายสมดุลของอำนาจ” ด้วย

และแม้ผู้นำประเทศสมาชิกนาโต้ทั้ง 30 ประเทศพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยปากเรียกจีนว่าเป็นคู่แข่ง ที่ประชุมสุดยอดในครั้งนี้กลับแสดงความกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าเป็น “นโยบายขู่เข็ญบังคับ” ของจีน ซึ่งอ้างถึงการปรับปรุงความสามารถของกองกำลังทหารและการใช้แนวทางการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนต่างๆ ของจีน ผ่านกระบวนการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส่ชัดเจน ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศในการดำเนินการต่างๆ อย่างมีความรับผิดชอบภายใต้ระบบสากลที่มีอยู่

ประเด็นอื่นที่มีการพูดคุยกันเป็นเรื่องของสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ซึ่ง พลเอก ชโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ เปิดเผยว่า ผู้นำนาโต้เห็นพ้องที่จะเดินหน้าสนับสนุนอัฟกานิสถาน ด้วยความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม และการสนับสนุนจากนานาชาติให้กับกองกำลังอัฟกัน รวมทั้งการจัดสรรเงินทุนสำหรับการดำเนินงานของสนามบินนานาชาติของอัฟกานิสถานด้วย

ก่อนหน้านี้ นาโต้และสหรัฐฯ ตกลงที่จะเริ่มถอนกำลังทหารของตนออกจากอัฟกานิสถาน โดยปธน.ไบเดน ประกาศที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารของสหรัฐฯ ออกจากประเทศตะวันออกกลางแห่งนี้ภายในวันที่ 11 กันยายน