การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์นี้ จะเป็นเวทีแรกของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ได้ร่วมโต๊ะประชุมกับผู้นำจากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แบบตัวต่อตัว นับตั้งแต่รับเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินสายร่วมงานประชุมอื่นๆ ในยุโรปต่อไป
การประชุมสุดยอดผู้นำจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือ กลุ่ม G-7 เป็นเวลา 3 วันในสุดสัปดาห์นี้ ในเมืองคาร์บิส เบย์ เขตปกครองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ คือจุดหมายแรกของการเดินทางไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวก่อนออกเดินทางว่า มีเป้าหมายสำคัญที่จะ “เสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งหลาย พร้อมๆ กับการเน้นย้ำให้จีนและรัสเซียตระหนักว่า ว่าสหรัฐฯ และยุโรปยังคงมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และกลุ่ม G-7 จะเดินหน้าทำงานร่วมกันต่อไป”
และก่อนที่ผู้นำจากทั้ง 7 ประเทศ อันได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา และอังกฤษ รวมทั้งแขกรับเชิญในปีนี้ ซึ่งก็คือผู้นำจาก ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ จะเดินทางมาถึงที่เมืองคาร์บิส เบย์ ซึ่งเป็นเมืองพักผ่อนชายทะเลอันเลื่องชื่อของอังกฤษ รัฐบาลกรุงลอนดอนได้ส่งเรือรบออกตระเวนตรวจตราน่านน้ำรอบๆ เมือง พร้อมๆ กับส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6,500 นายเข้าประจำการในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัยแล้ว
นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การประชุมที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน นับตั้งแต่ ปธน.ไบเดน สามารถเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทำภารกิจสำคัญ และจะเป็นครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันที่มาเยือนทวีปยุโรป ทั้งยังจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทุกคนสามารถพบกันซึ่งๆ หน้านับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ด้วย
นายกรัฐมนตรี จอห์นสัน กล่าวเสริมว่า สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำ G-7 ครั้งนี้คือ การจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่เกี่ยวกับภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลกและการทำงานร่วมกันภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว รวมทั้งการหารือประเด็นการฟื้นฟูภาวะโลกให้ดีกว่าเก่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าที่เคย
ในส่วนของสหรัฐฯ หลังจากช่วงเวลา 4 ปีก่อน ภายใต้การนำของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับนโยบาย “America First” ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้กับเหล่าพันธมิตรต้องเหินห่างและแหนงหน่ายกันไปนั้น โธมัส ไคลน์-บร็อคฮฟฟ์ รองประธานกองทุน German Marshall Fund of the United States บอกกับ วีโอเอ ว่า ปธน.ไบเดน น่าจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในการเยือนยุโรปครั้งนี้ หลังมีการส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ มีความตั้งใจที่จะทำให้พันธมิตรทั้งหลายมีความเชื่อใจในรัฐบาลกรุงวอชิงตันอีกครั้ง แม้จะยังคงมีความสงสัยเคลือบแคลงในกลุ่มพันธมิตรว่า สหรัฐฯ นั้นจะกลับไปยึดถือนโยบายชาตินิยมอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคตก็ตาม
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า ผู้นำกลุ่ม G-7 นั้นจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ในการแสดงความสามัคคีเพื่อรับมือกับความท้าทายมากมายที่ถาโถมเข้ามาในเวลานี้ อย่างเช่น กรณีของนายกฯ จอหน์สัน แห่งอังกฤษ ในฐานะเจ้าภาพการประชุม ที่ประกาศไว้ว่า กลุ่ม G-7 นั้นจะช่วยให้ประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนโควิด-19ครบภายในสิ้นปี ค.ศ. 2022 เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ อดีตนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ ให้ความเห็นติงไว้ว่า เป็นคำสัญญาที่ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้
อดีตนายกฯ บราวน์ กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมที่จัดโดยสถาบันนโยบายต่างประเทศ Chatham House ในกรุงลอนดอนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริง ถ้าจะพูดว่า การประชุม G-7 ในวันศุกร์นั้น คือเรื่องของความเป็นและความตาย และการตัดสินใจจากที่ประชุมนั้นจะกำหนดว่า ใครคือผู้ที่จะได้รับวัคซีนและปลอดภัย และใครจะต้องดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่ได้รับวัคซีนและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลง
ครีอน บัตเลอร์ อดีตที่ปรึกษารัฐบาลอังกฤษด้านกิจการกลุ่ม G-7 ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการด้านการเงินและเศรษฐกิจโลกของสถาบัน Chatham House ประเมินว่า ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกน่าจะมุ่งถกประเด็นปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง การค้าโลกและนโยบายภาษีเป็นหลัก หลังรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G-7 แสดงจุดยืนเมื่อสัปดาห์ก่อน สนับสนุนข้อเสนออัตราจัดเก็บภาษีโลกขั้นต่ำที่ 15 เปอร์เซ็นต์
บัตเลอร์ กล่าวว่า ข้อตกลงใหม่ที่ถูกเสนอขึ้นมานี้ ถือเป็นการปฏิวัตินโยบายโลกได้เลย เพราะจะนำไปสู่การแบ่งปันสิทธิในการเรียกเก็บภาษีของรัฐบาลทั่วโลก โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องการคิดคำนวณและเรียกเก็บภาษีโดยอ้างอิงจากสถานที่ตั้งของบริษัทเท่านั้น แต่ยังขยายความไปถึงที่ตั้งของบริษัทหนึ่งๆ ทำรายได้มากเป็นจำนวนเงินมหาศาลแต่จ่ายภาษีเพียงน้อยนิดด้วย
นอกจากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว เรื่องของภัยคุกคามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่ม G-7 จากรัสเซียและจีน เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่คาดว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมสุดสัปดาห์นี้ และเป็นประเด็นที่ ปธน.ไบเดน ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากกลุ่มพันธมิตรด้วย
โธมัส ไคลน์-บร็อคฮฟฟ์ แห่งกองทุน German Marshall Fund of the United States กล่าวว่า คำถามสำคัญก็คือ บรรดาประเทศชาติตะวันตกทั้งหลายจะสามารถหาหนทางร่วมกันเพื่อประจัญหน้ากับจีนได้หรือไม่ และปธน.ไบเดน จะสามารถผลักดันให้พันธมิตรทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันกับจุดยืนในเรื่องนี้พร้อมแสดงความมุ่งมั่นในแบบที่จะช่วยสนองจุดประสงค์ทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ได้สำเร็จหรือไม่
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม G-7 แล้ว ผู้นำหลายประเทศจะเดินทางต่อไปยังกรุงบรัสเซลส์ในวันจันทร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ขณะที่ ปธน.ไบเดน มีกำหนดจะหารือกับผู้นำสหภาพยุโรปต่อในวันอังคาร
นอกจากประเด็นการหารือที่กล่าวมาแล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ลำดับการจัดการประชุมทั้งหมดนี้ดูเหมือนมีจุดประสงค์ที่จะเปิดโอกาสให้ปธน.ไบเดน เรียกเสียงสนับสนุนจากพันธมิตรทั้งหลาย ก่อนเข้าร่วมประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ในกรุงเจนีวา ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพุธด้วย