ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เดินทางลงพื้นที่นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ในวันศุกร์ตามเวลาในสหรัฐฯ เพื่อถกประเด็นการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 และเหตุกราดยิงที่ร้านสปาของชาวเอเชียที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า ในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดพบกับผู้นำชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเหตุกราดยิงและกรณีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง หรือ Hate Crime ที่มีการพุ่งเป้าไปยังผู้มีเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา
ก่อนออกเดินทางจากทำเนียบขาวเมื่อเช้าวันศุกร์ ปธน.ไบเดน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติร่างกฎหมายใหม่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 และอาชญากรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความเกลียดชัง ที่ชื่อ COVID-19 Hate Crimes Act เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้รัฐบาลสามารถเข้าจัดการกับเหตุ Hate Crime ที่พุ่งสูงอย่างมากมายในช่วงเกิดวิกฤตสาธารณสุขนี้
ปธน.ไบเดน ระบุว่า กฎหมายใหม่นี้ “จะช่วยสนับสนุนการทำงานของทั้งรัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงการรายงานเหตุอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง และทำการให้แน่ใจว่า ชุมชนชาวอเมริกันเชื้ออาศัยเอเชียเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับ Hate Crime ได้มากขึ้นด้วย”
จวบจนเวลานี้ เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายรัฐจอร์เจีย ยังไม่สรุปว่า เหตุยิงกราดสปา 3 แห่งเมื่อคืนวันอังคารนั้น เป็นกรณี Hate Crime เนื่องจากผู้ต้องหา โรเบิร์ต แอรอน ลอง วัย 21 ปี กล่าวว่า การออกตระเวนยิงของเขาเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ของตน
ในส่วนของตารางการเยือนแอตแลนตาของผู้นำสหรัฐฯ นั้น ปธน.ไบเดนและรองปธน.แฮร์ริส ยังมีกำหนดเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC เพื่อรับทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการรับมือภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในพื้นที่รัฐจอร์เจียด้วย
เดิมที การเดินทางทั่วประเทศในสัปดาห์นี้ของผู้นำสหรัฐฯ ถูกวางไว้เพื่อโปรโมทแผนช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ชื่อ Help Is Here หรือ “ความช่วยเหลือได้มาถึงแล้ว” หลังปธน.ไบเดน ลงนามรับรองกฎหมายความช่วยเหลือฉบับใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เหตุสลดที่เกิดขึ้นในนครแอตแลนตา ทำให้ทีมงานตัดสินใจเลื่อนวาระทัวร์ดังกล่าวไปก่อน
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดจะพบกับ สเตซีย์ เอเบรมส์ อดีตผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่า มีส่วนช่วยให้พรรคเดโมแครตได้ชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในรัฐนี้ได้สำเร็จ จนทำให้ ปธน.ไบเดน กลายมาเป็นประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตรายแรกที่ชนะเลือกตั้งในรัฐจอร์เจีย นับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1992 มา
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเม็กซิกัน ปฏิเสธรายงานข่าวว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีแนบเงื่อนไขให้กับข้อเสนอส่งวัคซีนโควิดหลายล้านโดสให้กับเม็กซิโก ในเวลาที่มีการคลื่อนย้ายของผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านนี้ เข้ามาสหรัฐฯ อย่างมากมายอยู่
เมื่อถูกถามว่า การเสนอให้เม็กซิโกยืมวัคซีนนี้ เกี่ยวข้องกับการขอให้มีการคุมเข้มการหลังไหลของผู้อพยพเป็นการแลกเปลี่ยนหรือไม่ เจน ซากิ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า การป้องกันการระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นจุดประสงค์หนึ่งในการดำเนินงานทางการทูต โดยอีกจุดประสงค์คือ การแก้ปัญหาความท้ายทายต่างๆ ที่บริเวณพรมแดนของประเทศ “ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จะได้ยินว่ามีการพูดคุยทั้งสองอยู่อย่างต่อเนื่องในเวลานี้”
อย่างไรก็ตาม โรแบร์โต เวลาสโก ผู้อำนวยการกองอเมริกาเหนือ ประจำกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก ระบุในแถลงการณ์ว่า ประเด็นทั้งสองนี้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยทางการเม็กซิโกนั้นพยายามหาระบบดูแลการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับการยกระดับความร่วมมือเพื่อสู้กับโควิด-19 ไปด้วยต่างหาก
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โฆษกทำเนียบขาว ยืนยันว่า สหรัฐฯ กำลังมีการพูดคุยเกี่ยวกับแผนส่งวัคซีน 2.5 ล้านโดสของบริษัทยาแอสตราเซเนกา ไปให้เม็กซิโก และอีก 1.5 ล้านโดสไปให้แคนาดาอยู่ โดยกำลังทำการประเมินว่าจะดำเนินแผนการดังกล่าวได้หรือไม่ และอย่างไร โดยยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้
ในเวลานี้ มีวัคซีนที่รวมพัฒนาโดยแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ซึ่งผลิตในสหรัฐฯ อยู่หลายสิบล้านโดส แต่แม้รัฐบาลหลายประเทศได้อนุมัติการใช้วัคซีนของบริษัทยาแห่งนี้แล้ว สหรัฐฯ เอง ยังไม่ได้ให้ไฟเขียวเพื่อการใช้งานเลย
โจชัว บัสบี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกิจการสาธารณะของมหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส ในเมืองออสติน ให้ความเห็นว่า การที่สหรัฐฯ มีแผนจะให้เพื่อนบ้าน “ยืม” วัคซีนที่มีล้นคลังจำนวนหลายล้านโดส เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล เพราะยาเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากกว่าที่จะถูกเก็บไว้เฉยๆ
แต่ ผศ.บัสบี ติงว่า แผนการดังกล่าวของสหรัฐฯ น่าจะมีขอบเขตกว้างไกลกว่านี้ เพราะ “ยังมีประเทศในทวีอเมริกาอีกมากมาย และในทวีปอื่นๆ ที่ยังต้องการใช้วัคซีนอยู่”
อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่า รัฐบาลปธน.ไบเดน ตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงนี้ และคาดว่า ในไม่กี่เดือนข้างหน้า รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำการบางอย่างเพื่อช่วยให้ประชาคมโลกเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น “เพราะยิ่งภาวการณ์ระบาดทั่วโลกยืดยาวออกไปเท่าใด ความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะทำให้วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้งานไม่ได้ผลนั้น ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น”