ไบเดน เสนอชื่ออดีตนายพลเชื้อสายแอฟริกัน ขึ้นดำรงตำแหน่งรมต.กลาโหม

Biden Defense

ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เปิดเผยชื่อผู้ที่ตนเสนอขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นอดีตนายพลกองทัพสหรัฐฯ ที่จะกลายมาเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกในตำแหน่งดังกล่าว หากได้รับการรับรองจากวุฒิสภา

พลเอก ลอยด์ ออสติน อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในปฏิบัติการรบที่อิรักและอัฟกานิสถาน คือผู้ที่ ว่าที่ปธน.ไบเดน เสนอชื่อให้ขึ้นคุมบังเหียนกระทรวงกลาโหมภายใต้รัฐบาลใหม่

นายทหารเชื้อสายแอฟริกันวัย 67 ปีนี้ เกิดที่รัฐแอละบามา ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่รัฐจอร์เจีย และสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2015 โดยปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯ ในหลากหลายตำแหน่ง นาน 4 ทศวรรษ ก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี ค.ศ. 2016 ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ที่มีดูแลการปฏิบัติการในอิรัก อัฟกานิสถาน และพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งเอเชียใต้

พล.อ.ออสติน ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเป็นผู้นำในหมู่ผู้ที่เคยร่วมงานที่มาจากทั้งภายในกองทัพและภาคพลเรือน โดยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เคยกล่าวไว้ในพิธีเกษียณอายุราชการของอดีตนายพลรายนี้ว่า เป็นผู้ที่มี “บุคลิกลักษณะและความสามารถที่เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำกองทัพที่สหรัฐฯ ต้องการ”

แต่แม้จะมีเสียงชื่นชมจากหลายฝ่ายมามากมาย พล. อ. ออสติน เคยถูกสมาชิกสภาคองเกรสโจมตีอย่างหนักเมื่อปี ค.ศ. 2015 จากกรณีความล้มเหลวในการดำเนินโครงการอบรมนายทหารกองทัพซีเรียมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุน

ขณะเดียวกัน การที่ พล.อ.ออสติน เพิ่งเกษียณอายุราชการมาไม่ถึง 5 ปี กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเสนอชื่อครั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดให้ผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องยุติบทบาทในกองทัพมาเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี แม้ว่า จะเคยมีกรณีที่สภาคองเกรสตกลงที่จะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายนี้มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1950 และปี ค.ศ. 2017

รายงานข่าวระบุว่า สมาชิกสภาคองเกรสบางรายแสดงความลังเลที่จะลงมติยกเว้นให้กับ พล.อ.ออสติน หลังจากเพิ่งลงมติแบบเดียวกันนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากนั้น ไมเคิล โอแฮนลอน นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Brookings Institution ให้ความเห็นว่า หากได้รับการรับรองให้ขึ้นคุมกระทรวงกลาโหมจริง พล.อ.ออสติน จะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรับหน้าที่ใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข่งขันแย่งชิงอำนาจ การปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และภารกิจสำคัญอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการรับมือกับภัยคุกคามจากจีนและรัสเซีย ที่ประสบการณ์จากเมื่อครั้งดูแลกองบัญชาการภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออกกลางนั้นไม่เพียงพอเลย

อย่างไรก็ตาม โอแฮนลอน ระบุด้วยว่า แม้การเลือก พล.อ.ออสติน. ออสติน ขึ้นมาเป็นรมต.กลาโหม จะดูเหมือนเป็นการตัดสินใจที่ไม่ค่อยเป็นไปตามเหตุและผล อดีตนายทหารเกษียณราชการรายนี้ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เลวร้ายเสียทีเดียว