วิเคราะห์: ทางเลือกนโยบายต่างประเทศต่อจีน 'ไบเดน vs ทรัมป์'

US China

Your browser doesn’t support HTML5

Biden China


ขณะที่นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเริ่มก่อตัวและมีความเห็นพ้องจากนักการเมืองของทั้งสองพรรคใหญ่ในสหรัฐฯ ว่าวอชิงตันยังไม่ควรเร่งผ่อนปรนนโยบายเกี่ยวกับจีน

คำถามขณะนี้ก็คือ รัฐบาลสหรัฐฯ ควรยกเลิกนโยบายบางอย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำไว้หรือปรับแต่งในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากมาตรการข้อจำกัดและบทลงโทษหลายอย่างที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์เร่งประกาศในช่วงไม่กี่เดือนก่อนพ้นจากตำแหน่งทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นทั้งในแง่การเมืองและในทางการบริหารสำหรับประธานาธิบดีไบเดนที่จะประกาศยกเลิก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ไม่อยู่ในฐานะเร่งรีบที่จะต้องยกเลิกการตัดสินใจหลายอย่างของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่อาจจะมุ่งเน้นความสนใจไปยังเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประเด็นที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าที่จะสร้างปัญหาใหม่ให้กับธุรกิจของจีน

เมื่อสิ้นสุดรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ยอดเสียเปรียบดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนมีจำนวนราว 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาพ้นจากตำแหน่

แต่นายสก็อต เคนเนดี้ นักวิเคราะห์ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies ได้ชี้ว่า มาตรการทางภาษีและอุปสรรคด้านการค้าที่ประธานาธิบดีทรัมป์นำมาใช้ได้สร้างภาระและความลำบากให้กับผู้นำเข้าและผู้บริโภคชาวอเมริกันมากกว่าต่อธุรกิจของจีน

และขณะที่นายแอนโทนี บลิงค์เคน ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายไมค์ พอมเพโอ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรื่องความจำเป็นที่จะต้องมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนต่อไปนั้น เขาก็กล่าวว่า สหรัฐฯ จะอาศัยความร่วมมือจากประเทศพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อรับมือกับจีนและจะเน้นเรื่องการไม่ซื้อสินค้าซึ่งผลิตด้วยแรงงานทาสในมณฑลซินเจียง รวมทั้งจะทำให้แน่ใจว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งออกเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลจีนสามารถนำไปใช้เพื่อกดขี่ปราบปรามประชาชนได้

ในส่วนของจีนเองเป็นที่คาดได้เช่นกันว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คงพยายามหลีกเลี่ยงการประจัญหน้าโดยตรงกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผู้นำของจีนก็ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนเช่นกันว่ามีบางเรื่องซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติที่ละเอียดอ่อนและสำคัญ เช่น สถานการณ์เกี่ยวกับไต้หวัน ซินเจียง ทิเบต และเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

แต่นายสก็อต เคนเนดี้ นักวิเคราะห์ของ Center for Strategic and International Studies ก็เชื่อว่า ยังมีบางเรื่องที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สามารถจะผ่อนคลายเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นได้ อย่างเช่น เรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและเรื่องการออกวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าว หากจีนจะยอมทำตามในลักษณะเดียวกัน

ส่วนอาจารย์ชิคุน ซู หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Bucknell ก็เชื่อว่า มีหลายเรื่องซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจดำเนินการได้ทันที เช่น การกลับไปรื้อฟื้นโครงการแลกเปลี่ยนฟูลไบรท์ในจีนและฮ่องกง และการส่งอาสาสมัคร peace corps กลับไปทำงานในประเทศจีน รวมถึงการกลับไปเปิดสถานกงสุลของสหรัฐฯ ที่เมืองเฉิงตู และการอนุญาตให้จีนเปิดสถานกงสุลของตนในนครฮิวสตัน รัฐแท็กซัสเป็นต้น

อาจารย์ชิคุน ซู มองด้วยว่า เหตุผลสำคัญที่จีนอยากจะหลีกเลี่ยงการประจัญหน้ากับสหรัฐฯ ในช่วงนี้ เพราะว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของจีนในเวทีโลก และขณะนี้หลายประเทศก็ยังกล่าวโทษจีนอยู่สำหรับความไม่โปร่งใสและการไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่ว่านี้อย่างเข้มงวดมากพอ

และถึงแม้ขณะนี้จีนจะพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ของตนได้บางส่วนด้วยการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ให้กับหลายประเทศที่ต้องการก็ตาม แต่นายสก็อต เคนเนดี้ จาก Center for Strategic and International Studies ก็ชี้ว่า วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทของจีนนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และประสิทธิผลในระดับต่ำของวัคซีนที่ว่านี้ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและความต้องการในต่างประเทศ

ซึ่งปัญหานี้ก็พลอยส่งผลต่อบทบาทและภาพลักษณ์ของจีนในขณะนี้ด้วยเช่นกัน