สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ เดินหน้าเตรียมงานด้านนิติบัญญัติให้แก่รัฐบาลใหม่ที่จะเริ่มบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมของปีหน้า โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกลาโหมของสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านอิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เหลือเวลาอีก ราว 6 สัปดาห์เศษๆ ก่อนว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนที่ 46 ของประเทศ แต่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้เริ่มเตรียมแผนงานด้านนิติบัญญัติที่มีเป้าหมายในการประสานงานฝ่ายต่างๆ ของรัฐบาลที่ทำงานด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อต่อต้านจีนไว้เรียบร้อยแล้ว
หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานว่า สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้เตรียมร่างกฎหมายกลาโหมประจำปีที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรงบเพิ่มเรือดำน้ำโจมตีให้กองทัพตามที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงกลาโหมระบุว่า มีความสำคัญต่อการต่อต้านกองกำลังทางน้ำของจีนซึ่งมีความแข็งแกร่งมากด้วย รวมถึงโครงการใหม่ซึ่งจะช่วยทำให้จุดยืนของสหรัฐฯ และการทำความร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความแข็งแกร่งขึ้น
โครงการนี้ที่มีชื่อว่า Pacific Deterrence Initiative มั่งเน้นการส่งเสริมการทำงานรวมกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เพื่อต้านอิทธิพลของจีน หลังได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการ European Deterrence Initiative ที่เปิดตัวมาเมื่อปี ค.ศ. 2014 เพื่อยกระดับบทบาทของกองทัพสหรัฐฯ การทำงานร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
สภาคองเกรสเสนอให้กฎหมายฉบับนี้มีงบประมาณรวมสูงถึงเกือบ 741,500 ล้านดอลลาร์ โดยมีการประเดิมแบ่งงบ 2,200 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนโครงการ Pacific Deterrence Initiative ในปีแรก สำหรับการปรับปรุงความพร้อมด้านกลาโหมของสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ในส่วนของงบที่เหลือ สภาคองเกรสแบ่งงบราว 635,500 ล้านดอลลาร์ให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกันงบ 26,600 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณ 69,000 ล้านดอลลาร์ให้กับแผนงานปฏิบัติการ Overseas Contingency Operations ที่เกี่ยวกับกับภารกิจการทำสงคราม ตามรายงานของ Politico
นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งใหม่ ซึ่งก็คือ ผู้อำนวยการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและวางโครงสร้างให้กระทรวงกลาโหมลดการพึ่งพาภาคการผลิตของจีนในทุกด้านลง ซึ่งรวมความตั้งแต่สายการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้า
ขณะที่ จอห์น แรทคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์รายการข่าว CBS News ว่า จีนเริ่มทำการล็อบบี้ต่างๆ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับๆ เพื่อให้กฎหมายใหม่นี้ออกมาในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อจีนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแสดงความเชื่อมั่นในกฎหมายกลาโหมฉบับใหม่นี้ ที่มีการเรียกว่าเป็น “ก้าวแรกที่ดี” และไม่ใช่เป็นเพียงการยกเครื่องแบบเรียกเสียงฮือฮาเท่านั้น ทั้งยังคาดว่า มาตรการต่างๆ ในกฎหมายนี้ยังเป็นสัญญาณสำคัญจากสภาคองเกรส ที่หวังว่ารัฐบาลใหม่ของว่าที่ปธน.ไบเดน จะยกระดับการท้าทายจีนในนามของสหรัฐฯ ต่อไปด้วย
นอกจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว บรรดาผู้บัญชาการกองทัพทั้งหลายในสหรัฐฯ ต่างออกมาให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การตั้งมั่นต่อต้านจีนจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดและจำเป็นเร่งด่วนเรื่องหนึ่งสำหรับรัฐบาลของว่าที่ปธน.ไบเดน เนื่องจากการผงาดขึ้นมาของจีนทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ได้กลายมาเป็นความท้าทายอย่างมากของสหรัฐฯ โดยกฎหมายกลาโหมใหม่นี้จะไม่เพียงช่วยขยายงานด้านการทหารของประเทศเท่านั้น แต่จะยังช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา จำกัดความสามารถของจีนในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากธนาคารโลก และประกาศย้ำจุดยืนต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ด้วยการห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านกลาโหมไปให้หน่วยงานด้านรักษากฎหมายของฮ่องกง เป็นต้น
สำหรับสภาคองเกรสแล้ว โครงการต่างๆ นี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการยกระดับท่าทีสหรัฐฯ ต่อจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้สมาชิกสภาฯ สามารถควบคุมทิศทางของประเทศในการแข่งขันด้านต่างๆ กับจีนด้วย
เนื้อหาของกฎหมายใหม่นี้ มีเงื่อนไขที่กำหนดให้รัฐมนตรีกลาโหมนำเสนอรายละเอียดความต้องการด้านทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายโครงการ Pacific Deterrence Initiative ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีหน้า และนำส่งรายงานสถานะต่างๆ เป็นระยะๆ ทั้งยังมีผลสั่งให้กระทรวงกลาโหมต้องแจ้งสภาฯ หากจะสั่งลดกำลังทหารในเกาหลีใต้ให้ต่ำกว่าระดับ 28,500 นาย ล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วันด้วย
ทั้งนี้ มีการคาดกันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรน่าจะทำการลงมติรับรองร่างกฎหมายนี้ไม่เกินวันอังคารที่จะถึง ก่อนจะส่งต่อให้วุฒิสภาลงมติต่อไป