ขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนกำลังเร่งประกาศชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในคณะรัฐมนตรี บรรดานักวิเคราะห์ด้านเอเชียก็เริ่มคาดการณ์ว่านโยบายด้านเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่ง The Hill เวปไซต์ด้านการเมืองของสหรัฐฯ รวมทั้งนสพ. South China Morning Post ได้เสนอรายงานแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ของประธานาธิบดีไบเดนควรจะทำกับสมาคมอาเซียน
โดย Bart Edes ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้าระหว่างประเทศซึ่งเคยเป็นตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในสหรัฐฯ ให้ความเห็นทางเว็บไซต์ The Hill ภายใต้หัวข้อว่าไบเดนควรต้องทำอย่างเต็มที่ในเรื่องอาเซียน และว่าการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นนับเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศผู้นี้ชี้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากรทั้งหมด 670 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรของสหภาพยุโรป อังกฤษ และแคนาดารวมกัน และอายุเฉลี่ยของประชากรของประเทศอาเซียนนั้นก็ยังค่อนข้างน้อยคือไม่ถึง 35 ปี ทั้งยังคาดด้วยว่าอาเซียนจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีนและอินเดียภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย
ขณะนี้อาเซียนเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรพลังงานไฟฟ้า อากาศยาน เชื้อเพลิงและอุปกรณ์การแพทย์ซึ่งมีมูลค่ารวมในปีที่แล้วถึงกว่า 3 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์และช่วยสร้างงานให้กับคนอเมริกันหลายแสนตำแหน่งด้วย นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศผู้นี้ยังเชื่อว่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการที่ธุรกิจอเมริกันเปลี่ยนการลงทุนจากจีนมาเป็นในกลุ่มอาเซียนแทนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่อง supply chain อย่างไรก็ตามขณะนี้อาเซียนยังได้รับความสนใจด้านการค้าจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นที่สองรองจากเรื่องความมั่นคงและภูมิศาสตร์การเมือง
อดีตตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในสหรัฐฯ เห็นว่าสิ่งที่โจ ไบเดนควรทำคือเริ่มการพบหารือกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ของอินโดนีเซียก่อน รวมทั้งควรพยายามติดต่อสานสัมพันธ์กับผู้นำของประเทศอาเซียนคนอื่นด้วย โดยสหรัฐฯ ควรส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้สำคัญสำหรับสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ควรให้ความสนใจ นอกจากนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ควรส่งสัญญาณอย่างชัดเจนโดยการเข้าร่วมประชุมประจำปีของอาเซียนด้วยตนเองทุกครั้ง
Bart Edes อดีตตัวแทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียยังเสนอด้วยว่าสหรัฐฯ ควรพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP และการตัดสินใจเรื่องนี้ยิ่งมีความสำคัญหลังจากที่อาเซียนกับจีนเพิ่งสรุปข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ไป ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าต่างประเทศคนดังกล่าวยังเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ของโจ ไบเดนควรใช้เรื่องการขยายความสัมพันธ์กับอาเซียนเป็นแกนหลักเรื่องหนึ่งสำหรับนโยบายต่างประเทศที่มีต่อเอเซีย
อีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ก็เสนอบทความว่าอาเซียนกำลังจะกลายเป็นสนามรบเพื่อการช่วงชิงอำนาจอิทธิพลครั้งใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยชี้ว่าหลังจากที่ได้ละเลยมานานรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ กำลังถูกกดดันให้กลับมาเริ่มเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ประธานาธิบดีของจีนได้แสดงท่าทีเห็นด้วยกับการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP ที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไปในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์
South China Morning Post ยังอ้างความเห็นของอาจารย์ Li Wei ผู้สอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Renmin ว่าขณะนี้จีนได้เปรียบในแง่ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับอาเซียนและจะสามารถเชื่อมต่อกับอาเซียนได้ด้วยเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานกับ supply chain ซึ่งจะเป็นผลให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียนยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นในอนาคต ส่วนอาจารย์ Tan See Seng ผู้สอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ก็ชี้ว่าประธานาธิบดีไบเดนจะทำได้ดีหากสนใจเข้าร่วมการประชุมของอาเซียนบ่อยครั้งขึ้น และว่าขณะนี้ก็มีรายงานว่าโจ ไบเดนกำลังพิจารณาจะตั้ง Asia Tsar หรือผู้รับผิดชอบด้านเอเชียขึ้นเพื่อต้านอิทธิพลของจีนในเอเซีย
South China Morning Post ส่งท้ายบทความเกี่ยวกับอาเซียนด้วยการอ้างความเห็นของนาย Michael Plummer ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่ว่าการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจได้แสดงว่าทั้งอาเซียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์เมื่อสหรัฐฯ กับจีนมีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่กับภูมิภาคนี้ และว่าไม่มีใครอยากถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ หรือจีน ดังนั้นทางเลือกที่ฉลาดของประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศก็คือการให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และพยายามหลีกเลี่ยงการถูกโยงเข้าสู่การแข่งขันทางการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจที่ว่านี้