ชาวอเมริกันใช้เทคโนโลยีป้องกันการโจรกรรมรังผึ้ง

Beehive Thefts

คนเลี้ยงผึ้งจากทั่วสหรัฐฯ บรรทุกผึ้งหลายพันล้านตัวไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อให้ผู้ปลูกอัลมอนด์เช่าสำหรับการผสมเกสรพืชที่มีค่ามากที่สุดของรัฐ เป็นเวลาสองถึงสามสัปดาห์

แต่ในขณะที่ต้นอัลมอนด์เริ่มผลิบาน ดอกไม้สีขาวและสีชมพูปกคลุมไปทั่วทั้งหุบเขา การขโมยรังผึ้งจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นจนคนเลี้ยงผึ้งต้องหันมาใช้อุปกรณ์ติดตาม GPS กล้องวงจรปิด และเทคโนโลยีป้องกันโจรกรรมอื่นๆ เพื่อปกป้องรังผึ้งอันมีค่าเหล่านั้น

ทั้งนี้ มีรายงานการขโมยรังผึ้งในส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วย โดยล่าสุดมีรังผึ้ง 3 รังซึ่งมีผึ้งอยู่ประมาณ 60,000 ตัวถูกขโมยไปจากสวนของร้านขายของในรัฐเพนซิลเวเนีย และเหตุการณ์ดังกล่าวขยายวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงเวลานี้ของปี เนื่องจากผึ้งกำลังเป็นที่ต้องการมากที่สุดในช่วงเวลาของการผสมเกสรที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยเมื่อต้นปีว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่ารังผึ้ง 1,036 รังมูลค่าหลายแสนดอลลาร์ถูกขโมยไปจากสวนผลไม้ทั่วรัฐ การโจรกรรมครั้งใหญ่ที่สุดคือการขโมยรังผึ้ง 384 รังจากทุ่งในเมนโดซิโนเคาน์ตี้ ทำให้สมาคมคนเลี้ยงผึ้งของรัฐเสนอรางวัล 10,000 ดอลลาร์สำหรับข้อมูลที่จะนำรังผึ้งเหล่านั้นกลับคืนมา

แคลร์ ทอเซอร์ (Claire Tauzer) เขียนประกาศเกี่ยวกับรางวัลบนเฟสบุ๊คของเธอว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกถึงความรู้สึกของการดูแลรังผึ้งมาตลอดทั้งปีเพียงเพื่อให้ถูกขโมยไป หนึ่งวันต่อมา ผู้แจ้งเบาะแสที่ไม่ประสงค์จะออกนามได้นำเจ้าหน้าที่ไปเก็บกล่องเลี้ยงผึ้งได้เกือบทั้งหมดรวมทั้งรถยกที่ถูกขโมยไปจากธุรกิจครอบครัวของทอเซอร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 55 ไมล์ (88 กิโลเมตร) และมีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมหนึ่งราย

นอกจากนี้ชุดสืบสวนยังพบเฟรมชนิดที่ใช้ยึดรวงผึ้ง ซึ่งเป็นของเฮลิโอ เมดินา (Helio Medina) คนเลี้ยงผึ้งซึ่งสูญเสียรังผึ้งไป 282 รังเมื่อปีที่แล้ว

เมดินากล่าวว่า การขโมยดังกล่าวได้สร้างความเสียหายแก่โรงเลี้ยงผึ้งของเขา ดังนั้นในปีนี้เขาจึงติดตั้งเครื่องติดตาม GPS ไว้ในกล่อง นอกจากนี้เขายังติดสายเคเบิลเพื่อล็อครอบๆ กล่อง และติดตั้งกล้องในบริเวณใกล้เคียง และในขณะที่ดอกอัลมอนด์ใกล้จะบานและรังผึ้งกลายเป็นสิ่งมีค่าที่สุด เขาจะขับรถลาดตระเวนตามสวนผลไม้ในความมืด

เขาบอกด้วยว่า เขาต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องตัวเอง เพราะไม่มีใครสามารถช่วยอะไรได้

ทั้งนี้ การขโมยมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ในขณะที่ไม่มีใครอยู่ในสวนและผึ้งกลับเข้าไปอยู่ในรัง และพวกหัวขโมยก็มักจะเป็นคนเลี้ยงผึ้งหรือเป็นคนที่คุ้นเคยกับการขนส่งผึ้งเป็นอย่างดี

โรวดี้ เจ ฟรีแมน (Rowdy Jay Freeman) เจ้าหน้าที่แห่งบิวท์ เคาน์ตี้ ซึ่งติดตามการขโมยรังผึ้งมาตั้งแต่ปี 2013 กล่าวว่า บ่อยครั้งที่คนเหล่านั้นขโมยรังผึ้งไปเพื่อหารายได้และปล่อยให้ผึ้งตาย

ความต้องการผึ้งที่เพิ่มมากขึ้นและค่าใช้จ่ายในการผสมเกสรที่พุ่งสูงขึ้น จากค่าเช่ารังผึ้ง 1 รังที่เคยต่ำกว่า 50 ดอลลาร์เมื่อสองทศวรรษที่แล้วเป็น 230 ดอลลาร์ต่อรังในปีนี้ อาจจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการขโมยรังผึ้ง

สำหรับคนเลี้ยงผึ้งแล้ว การสูญเสียรังผึ้งย่อมหมายถึงการสูญเสียรายได้จากผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งและการผสมเกสรในอนาคต นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรังผึ้งตลอดทั้งปี ซึ่งพวกเขาบอกว่าแทบจะไม่คุ้มกันเลย

ฟรีแมน ซึ่งเข้าสู่ธุรกิจการเลี้ยงผึ้งหลังจากที่สืบสวนการขโมยรังผึ้งครั้งแรกของเขา ได้แนะนำให้คนเลี้ยงผึ้งติดกล้องวงจรปิด และใส่ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของตนลงบนกล่องทุกกล่อง

เขากล่าวว่า คนเลี้ยงผึ้งบางคนพยายามทำเครื่องหมายบนกล่องของพวกเขาด้วย SmartWater CSI ซึ่งเป็นเครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้เพื่อช่วยตำรวจในการติดตามทรัพย์สินที่ถูกขโมยไป

ฟรีแมน ยังได้ทำงานร่วมกับพนักงานอัยการในปี 2016 เพื่อตั้งข้อหาชายคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยรังผึ้ง 64 รังเท่ากับการขโมยปศุสัตว์ ภายใต้กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น การขโมยทรัพย์สินมูลค่า 950 ดอลลาร์หรือน้อยกว่าถือเป็นความผิดทางอาญาประเภทลหุโทษ แต่การขโมยผลิตผลทางการเกษตรใดๆ ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 250 ดอลลาร์ถือเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง ดังนั้นการขโมยรังผึ้งไม่ว่าจะ 1 หรือ 10 หรือ 100 รังก็จะถูกตั้งข้อหาเดียวกัน

ชายคนดังกล่าวให้การสารภาพและถูกตัดสินจำคุก 90 วันและถูกคุมประพฤติเป็นเวลา 3 ปี

สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย แนะนำให้คนเลี้ยงผึ้งสื่อสารอย่างสม่ำเสมอกับผู้ปลูกอัลมอนด์ว่ารังผึ้งของพวกเขาถูกวางไว้ตรงไหน และสนับสนุนให้ผู้ปลูกอัลมอนด์จ้างคนเลี้ยงผึ้งที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรังผึ้งได้ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอัลมอนด์กำลังพยายามลดการพึ่งพาผึ้งด้วยการปลูกพันธุ์อัลมอนด์ที่ "ผสมเกสรเองได้" ซึ่งจะทำให้ใช้ผึ้งน้อยลงในการผสมเกสร และเพิ่มการลงทุนในการวิจัยและการริเริ่มอื่นๆ เพื่อมุ่งพัฒนาสุขภาพของผึ้งอีกด้วย

  • ที่มา: เอพี