เข้าสู่ปีหมูทองอย่างเป็นทางการไปได้ร่วมเดือน หลายคนอาจยังเฟ้นหาเทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นอาหารแห่งปี 2019 นี้ก็ได้ ซึ่งเว็บไซต์ Michelin.com และ CNBC รวบรวมเทรนด์อาหาร 9 อย่าง แห่งปี 2019 มาให้เลือกสรรเข้าตู้เย็นกัน
1. อาหารผสมสารจาก “กัญชา” – ระหว่างที่กำลังมีข้อถกเถียงถึงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ตอนนี้สาร Cannabidol ในกัญชา ที่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งระบุว่า มีส่วนช่วยบำบัดภาวะวิตกกังวล ช่วยการนอนหลับ และรักษาระดับอารมณ์ ได้เป็นแรงบันดาลใจและส่วนผสมของอาหารหลากหลายเมนู ตั้งแต่คุกกี้ บราวนี่ ไปจนถึงเครื่องดื่มค็อกเทล
2. เนยจากเมล็ดพืช – เนยถั่วจะดูเชยไปทันที เพราะตอนนี้ เนยอัลมอนด์ เนยจากเมล็ดทานตะวัน เนยจากเมล็ดฟักทอง หรือเนยจากเมล็ดแตงโม กำลังเป็นกระแสนิยมใหม่ๆ เนื่องจากชาวตะวันตกจำนวนมากประสบปัญหาภาวะแพ้ถั่วลิสงและถั่วเหลืองกันมาก แต่ก็อยากดูแลสุขภาพให้ดี ดังนั้น เนยจากเมล็ดพืชทางเลือกเหล่านี้จึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
3. นมจากข้าวโอ๊ต – นมอัลมอนด์เป็นเทรนด์ที่มาเร็วไปเร็วพอสมควร เพราะปีนี้เป็นปีแห่งนมข้าวโอ๊ตอย่างแท้จริง ด้วยวิธีการทำที่ง่าย แค่แช่ข้าวโอ๊ตในน้ำให้พอพองตัว นำมาปั่นและกรองเป็นอันเสร็จสิ้น ขณะที่นมข้าวโอ๊ตอุดมไปด้วยไฟเบอร์และคาร์โบไฮเดรต และให้รสสัมผัสเหมือนนมวัวที่เราคุ้นเคยมากกว่านมจากถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์
4. อาหาร Pacific Rim – อาหารเหล่านี้ไม่ได้มีอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ไซไฟแต่อย่างใด แต่เป็นอาหารฟิวชั่นที่ผสมผสานอาหารฝั่งเอเชียแปซิฟิกโอเชียเนีย ถูกคลื่นซัดมาขึ้นโต๊ะ fine-dining ฝั่งตะวันตก ด้วยเครื่องปรุงและส่วนผสมที่ให้ความสดชื่นเหมือนยืนอยู่ตามชายหาด ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นพิซซาถั่วบดฮัมมัสโปะทูน่าย่างไฟ ปลาย่างราดซอสมัสมั่น หรือจะเป็นค็อกเทลเสาวรส แก้วมังกร และฝรั่ง หยอดความหวานด้วยหล่อฮังก้วย ที่จะทำให้เรางุนงงกับคลื่นยักษ์ของรสชาติกันเลยทีเดียว
5. ของว่างจากท้องทะเล – ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายกำลังเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจในปีนี้ ตั้งแต่สาหร่ายอบแห้ง ไปจนถึงเนยจากสาหร่าย ก๋วยเตี๋ยวเส้นสาหร่าย นอกจากนี้ยังมีพวกผักชีทะเล และเมล็ดบัว ที่กำลังได้รับความนิยมในฝั่งตะวันตกด้วย
6. เครื่องปรุงจากเส้นทางสายไหม – ชาวอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียนและอาหารจากภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกันมากแล้ว ถึงคราวของอิทธิพลของเครื่องเทศคั่วสดจากแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางกันบ้าง ส่วนผสมหลักๆจะเป็นพริกแห้งและโหระพา สร้างความแตกต่างด้วยถั่วหรือสมุนไพรท้องถิ่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอย่าง Michael Whiteman ที่ปรึกษาด้านธุรกิจร้านอาหารจาก Baum+Whiteman ยกให้เป็นเครื่องเทศที่สะท้อนถึงเส้นทางสายไหม เชื่อมโยงแอฟริกา เอเชีย และยุโรปเข้าด้วยกัน ถ้านึกไม่ออก ขอให้ลอง dukkah จากอียิปต์ ที่มีกลิ่นถั่ว พริกคั่ว และโหระพา, เครื่องเทศ berbere หนักกลิ่นขิงจากเอธิโอเปีย หรือจะเป็นราสอัลฮานต์ (ras el hanout) เครื่องเทศหมักเนื้อหรือไก่สไตล์โมร็อกโก ก็พอเป็นตัวอย่างของเมนูสู่เส้นทางสายไหมได้แล้ว
7. โปรตีนจากพืชยังไม่ตกเทรนด์ – เพิ่มเติมคือการพัฒนาให้เนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริงๆมากขึ้น อย่างบริษัท Impossible Food ในซิลิคอน แวลลีย์ พัฒนาเบอร์เกอร์จากโปรตีนข้าวสาลี น้ำมันมะพร้าว โปรตีนจากมันฝรั่ง และเพิ่มสาร “ฮีม” (Heme) สารประกอบในเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงซึ่งพบได้ในพืชตระกูลถั่วมาผสมลงในก้อนเบอร์เกอร์ สร้างรสสัมผัสของเนื้อจริงๆขึ้นมาได้
ฝั่งฮ่องกงมี Omnipork ที่ถือเป็นโปรตีนจากพืชที่เหมือนเนื้อหมูจริงๆ อย่างไม่น่าเชื่อ และทำการตลาดไว้ว่า Buddhist Friendly โดยใช้เห็ดหอม ถั่วเหลือง โปรตีนจากถั่วและข้าว และที่อังกฤษมีบริษัท Quorn ที่ผลิตไมโคโปรตีน (mycoprotein) จากตระกูลเห็ดที่ให้รสชาติเหมือนไก่
8. “แมลง” แหล่งโปรตีนสายยั่งยืน – หากไม่ได้เห็นรูปร่างหน้าตาของแหล่งโปรตีนแห่งอนาคตเหล่านี้ ก็คงจะพอกลืนกันไหว สำหรับ แมลง ที่ได้รับการขนามนามให้เป็นแหล่งโปรตีนแห่งความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตโปรตีนหลายแห่งพยายามแปรรูปแมลงเหล่านี้ให้ดูน่ากินกว่ารูปโฉมต้นฉบับมากขึ้น อาทิ ผงโปรตีน สปาเกตตี้จากผงโปรตีน แพนเค้ก ขนมปัง โปรตีนแบบแท่ง หรือแม้กระทั่งขนมของสุนัข
9. คืนสู่สามัญด้วยการ “กินข้าวบ้าน” – นอกจากจะประหยัดแล้ว ตอนนี้มีบริษัทมากมายผลิต จัดจำหน่าย และจัดส่งวัตถุดิบให้พร้อมปรุงอาหารเลิศรสได้ที่บ้าน
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ชาหมักคอมบูชา (Kombucha) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเทรนด์อาหารของปีก่อน เช่นเดียวกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียน และอาหารที่เป็นมิตรต่ออินสตาแกรม หรือ Instagramable Food เอาใจสายโซเชียลโดยเฉพาะ