การศึกษาชิ้นใหม่โดยนักวิจัยจากประเทศเยอรมนี ระบุว่าระดับความจ้าของแสงที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติบนโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในช่วงปี พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2559
งานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science Advances ระบุว่า โดยรวมประเทศ 79 แห่ง ซึ่งโดยมากอยู่ในทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา มีแสงจ้าในตอนกลางคืนมากขึ้น
มี 16 ประเทศที่ระดับความจ้าของแสงลดลง เช่นซีเรีย และเยเมน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กับอีก 38 ประเทศ มีระดับแสงที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เท่าเดิม
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากดาวเทียม แต่เทคโนโลยีที่ใช้ไม่สามารถวัดความจ้าของแสงจากหลอดไฟ LED ที่เป็นแหล่งของแสงยุคใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นจึงมีข้อมูลของแสงบางส่วนที่ไม่ได้รวมอยู่ในการศึกษานี้ และทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปริมาณมลพิษทางแสงเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่าตัวเลขที่ถูกระบุในงานวิจัยชิ้นนี้
นักวิทยาศาสตร์ที่เขียนงานวิจัยกล่าวว่า แสงที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมประเภทหนึ่ง และกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน พืชและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
งานวิจัยก่อนหน้านี้เคยกล่าวถึงผลกระทบจากมลพิษทางแสงต่อการนอนหลับของมนุษย์ การย้ายถิ่นฐานของนก ปลา แมลง ค้างคาวและสัตว์สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก
และผู้ร่วมการศึกษาชิ้นล่าสุดนี้ Franz Holker แห่ง Leibniz Institute of Freshwater Ecology and Inland Fisheries ที่กรุงเบอร์ลิน กล่าวส่งท้ายว่า คนจำนวนมากเปิดไฟในตอนกลางคืนโดยไม่ทราบถึงผลเสีย ซึ่งไม่ใช่แต่เรื่องค่าไฟที่เพิ่มขึ้น แต่รวมถึงภาระที่หนักขึ้นต่อธรรมชาติด้วย
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของห้องข่าววีโอเอ)