รายงานสำรวจที่จัดทำโดยคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Warwick ชี้ว่า เด็กทารกในประเทศอังกฤษ แคนาดา อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ มักร้องไห้มากที่สุด ขณะที่เด็กทารกในเดนมาร์ก เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยเฉลี่ยแล้วร้องไห้น้อยกว่า
Your browser doesn’t support HTML5
เด็กแรกเกิดมักร้องไห้งอแงเป็นปกติ แต่นักวิจัยชาวอังกฤษที่มหาวิทยาลัย Warwick ต้องการศึกษาว่า อัตราการร้องไห้ของเด็กทารกในแต่ละประเทศนั้น แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
ในการวิจัยเพื่อตรวจดูว่าเด็กแรกเกิดในประเทศไหนร้องไห้มากที่สุด? นักวิจัยชุดนี้ได้จัดทำ "ตารางการร้องไห้ในระดับปกติ" ของเด็กทารกทั่วโลกขึ้นมา โดยได้สุ่มตัวอย่างเด็กแรกเกิดอายุไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 8,700 คนในหลายประเทศ รวมทั้ง เยอรมนี ญี่ปุ่น เดนมาร์ก อิตาลี แคนาดา และอังกฤษ เพื่อสอบถามถึงปริมาณการร้องไห้ในแต่ละวันของเด็กทารกเหล่านั้น
ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า เด็กแรกเกิดที่มีอาการแบบที่เรียกว่า “โคลิค” หรือร้องไห้หนักเกิน 3 ชม.ต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์นั้น อยู่ในประเทศอังกฤษ แคนาดา และอิตาลี มากที่สุด
ขณะที่ประเทศที่เด็กอายุไม่เกิน 3 เดือนมีอาการ “โคลิค” น้อยที่สุด คือ เยอรมนี เดนมาร์ก รวมทั้งญี่ปุ่น
งานวิจัยพบด้วยว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กแรกเกิดมักร้องไห้ประมาณ 2 ชม.ต่อวัน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่คลอดออกมา จากนั้นจะร้องมากขึ้นเล็กน้อยไปอีกไม่กี่สัปดาห์จนถึงระดับสูงสุดที่ประมาณวันละ 2 ชม. 15 นาที ตอนที่อายุได้ 6 สัปดาห์
หลังจากนั้นระดับการร้องไห้ก็จะค่อยๆ ลดลงจนอยู่ที่ระดับเฉลี่ยคือ 1 ชม. 10 นาทีต่อวัน ตอนที่เด็กอายุได้ 12 สัปดาห์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนด้วย เพราะบางคนร้องไห้เพียง 30 นาทีต่อวันเท่านั้น
ขณะที่บางคนก็ร้องไห้หนักมาก คือมากกว่าวันละ 5 ชม.!
ในงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ Journal of Pediatrics คุณ Dieter Wolker จากมหาวิทยาลัย Warwick ระบุว่า
“ตารางการร้องไห้โดยเฉลี่ยของเด็กทารกทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถช่วยในการศึกษาในขั้นต่อไปว่า อัตราการร้องไห้ที่แตกต่างกันของเด็กทารกในแต่ละประเทศนั้น เป็นผลมาจากวัฒนธรรมการเลี้ยงดู พันธุกรรม ประสบการณ์ระหว่างการตั้งท้อง หรือปัจจัยอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร”
และที่สำคัญยังสามารถช่วยคุณพ่อคุณแม่วิเคราะห์ได้ว่า ลูกน้อยของตนร้องไห้มากไปหรือน้อยไปหรือไม่เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การปรับเปลี่ยนท่านอนหรือที่นอน ตอดจนการปรับอาหารของเด็กทารก
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงจากรายงานของ Reuters)