นักวิจัยคิดค้นการตรวจเลือดเพื่อหา 'เซลล์มะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง'

SolaScan, a new device to detect skin cancer, is demonstrated at its launch in Sydney, Australia, May 7, 2002.

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิจัยออสเตรเลียคิดค้นการตรวจเลือดเพื่อหาเซลล์มะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง

นักวิจัยที่ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า สามารถพัฒนาเทคนิคการตรวจเลือดเพื่อทดสอบการเป็นมะเร็งผิวหนัง Melanoma ได้เป็นครั้งแรก

แนวทางดังกล่าวที่คิดค้นขึ้นโดยคณะวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Western Australia อาจสามารถนำมาใช้แทนวิธีการตรวจมะเร็งผิวหนังปัจจุบัน ที่ทำผ่านการวิเคราะห์ชิ้นส่วนเซลล์และตรวจผิวหนัง

เจ้าหน้าที่ที่ทำการศึกษาเชื่อว่า การตรวจเลือดสามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งผิวหนังได้ทันท่วงทีมากกว่าวิธีเดิมๆ ดังนั้นนักวิจัยหวังว่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกจากการตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ในระยะเริ่มแรก ก่อนการลุกลามไปส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ในการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างประมาณ 200 คน วิธีการตรวจเลือดสามารถระบุการเป็นมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น กว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว

อาจารย์ Mel Ziman ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยมะเร็งผิวหนัง Melanoma ที่ Edith Cowan University กล่าวว่า หากสามารถตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ในช่วงเริ่มต้น และกำจัดเซลล์ที่มีปัญหาออกไปได้ ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตไปอีก 5 ถึง 10 ปี ในระดับความเป็นไปได้ที่สูงถึง 98 ถึง 99 เปอร์เซ็นต์

เธอบอกด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านโรงมะเร็งอยากที่จะเห็นคนทั่วไปรู้สึกว่าการตรวจมะเร็งผิวหนังเป็นเรื่องปกติ เพื่อที่จะได้จัดการกับโรคดังกล่าวได้แต่เนิ่นๆ

ทั้งนี้เทคนิคการตรวจหามะเร็งผิวหนัง Melanoma ผ่านการดูผลเลือด ไม่สามารถใช้ได้กับมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น

Melanoma เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่ร้ายแรงที่สุด และมักเกิดจากการรับรังสี UV มากเกินไป ในประเทศออสเตรเลียมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้ ประมาณ 1,500 คนต่อปี

นักวิจัยกล่าวว่า ต้องมีการทดลองต่อไปเพื่อเพิ่มความเเม่นยำให้เป็น ร้อยละ 90 ในการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อมะเร็ง Melanoma และน่าจะใช้เวลาศึกษาพัฒนาต่อไปจากนี้อีก 5 ปี ก่อนที่จะมีการใช้วิธีนี้อย่างแพร่หลายได้

(รายงานโดย Phil Mercer / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)