ในภาพยนตร์แนว ไซ-ไฟ เรื่อง Star Trek การวินิจฉัยโรคนั้นทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Tricoder โบกไปมาเหนือคนป่วย ก็สามารถรับทราบถึงอาการบาดเจ็บต่างๆ ภายในร่างกายได้ทันที
แต่ในชีวิตจริง แม้จะยังไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขนาดนั้น แต่นักวิจัยก็กำลังพยายามคิดค้นพัฒนาอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกับ Tricoder ให้มากที่สุด
ศาสตราจารย์ จี-ซิน เช็ง แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัย Purdue ทุ่มเทการทำงานเพื่อคิดค้นเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบความผิดปกติภายในร่างกายของคนเราได้ทันที โดยเขาเชื่อว่าหากสามารถทราบถึงอาการบาดเจ็บภายในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันเวลา
ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เช็งและเพื่อนร่วมงานได้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์หลายชิ้นที่ใช้เสียงและแสงในการวินิจฉัยผู้ป่วย โดยเขาตั้งความหวังว่า สักวันหนึ่งจะสามารถคิดค้นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพคล้ายกับ Tricoder ในภาพยนตร์แนว ไซ-ไฟ เรื่อง Star Trek ให้ได้
ในกระบวนการรักษาแบบทุกวันนี้ แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของผู้ป่วยออกมาวินิจฉัย หรือใช้วิธีฉายแสงและใช้อนุภาคนาโน ในการตรวจสอบร่องรอยการแพร่กระจายของโรคภายในร่างกายของผู้ป่วยผู้นั้น ซึ่งก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยขั้นรุนแรงได้เช่นกัน
แต่อุปกรณ์แบบใหม่ที่ศาสตราจารย์เช็งและเพื่อนร่วมงานคิดค้นขึ้น จะใช้วิธีคำนวณแรงสั่นสะเทือนจากโมเลกุลในเนื้องอก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่เป็นอันตรายอย่างการฉายแสงและใช้อนุภาคนาโน
นักวิจัยชุดนี้อธิบายว่า แต่ละโมเลกุลนั้นมีการสั่นสะเทือนที่เป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างกันไป และสามารถจัดทำเป็นรูปแบบลักษณะของโมเลกุลแต่ละชนิดได้ ไม่ว่าจะเป็น สารอินทรีย์จำพวกไขมัน โปรตีน หรือกรดนิวคลีอิก โดยแสดงภาพการสั่นสะเทือนนั้นออกมาเป็นแบบสามมิติ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้ง่ายยิ่งขึ้น
คุณเจสซี หว่าง (Jesse Vhang) หนึ่งในคณะนักวิจัยชุดนี้ ชี้ว่า อุปกรณ์นี้สามารถสร้างภาพตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของผู้ป่วย เช่น ช่วยบอกได้ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยดูจากลักษณะการสะสมสารอินทรีย์จำพวกไขมัน
ซึ่งที่ผ่านมานั้น อุปกรณ์ให้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำในการตรวจสอบมะเร็งเต้านม ตับ และไต
นอกจากอุปกรณ์ตรวจแรงสั่นสะเทือนของโมเลกุลที่ว่านี้แล้ว สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIH ยังได้ให้ทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่ง เรียกว่า MarginPAT ซึ่งช่วยในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดรอบสองในกรณีที่การผ่าตัดรอบแรกไม่สามารถนำเนื้อร้ายออกมาได้ทั้งหมด
ศาสตราจารย์เช็ง ได้ร่วมมือกับ นายแพทย์ ปู หวัง (Pu Wang) ก่อตั้งบริษัท Vibronix เพื่อผลิตอุปกรณ์ MarginPAT ที่ว่านี้ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะช่วยปฏิวัติวงการการแพทย์ได้ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ซึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเท่ากับในสหรัฐฯ หรือยุโรป
คาดว่าอุปกรณ์ MarginPAT จะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายใน 3 ปี รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งจะทำให้นิยายวิทยาศาสตร์เข้าใกล้กับความเป็นจริงเข้าไปทุกที
(ผู้สื่อข่าว Erika Celeste รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)