ทีมนักวิจัยชี้ว่า ปากกามาสสเปคเพน (MasSpec Pen) สามารถตรวจหาเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อได้ผลภายใน 20 วินาที โดยไม่ต้องตัดเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อจากผู้ป่วย สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยน้อยกว่าวิธีการตรวจหามะเร็งดั้งเดิม
อายดิน ซาฮิดดิวาช (Aydin Zahedivash) นักศึกษาแพทย์และผู้ร่วมคิดค้นอุปกรณ์มาสสเปคเพน กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการวินิจฉัยมะเร็ง เพราะไม่ต้องรอผลการตรวจนานหลายชั่วโมงอย่างวิธีการตรวจแบบดั้งเดิม
เขาอธิบายว่า โดยปกติแพทย์ต้องตัดเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อในอวัยวะที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งออกมาตรวจ เเต่เทคโนโลยีนี้เพียงใช้ปากกามาสสเปคเพนเเตะลงไปที่อวัยวะที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งระหว่างการผ่าตัด น้ำหนึ่งหยดในปากกาจะดูดเอาโมเลกุลจากเนื้อเยื่อออกมาวินิจฉัยได้ทันที
เเละหลังจากนั้น อุปกรณ์ที่เรียกว่า แมสสเปคโทรมิเตอร์ (mass spectrometer) จะวิเคราะห์หยดน้ำในปากกานี้ซึ่งมีโมเลกุลจากเนื้อเยื่ออยู่ เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
วิธีการตรวจนี้ช่วยเพิ่มความเเม่นยำเเก่การวินิจฉัยมะเร็ง และภายในไม่กี่วินาที ทีมแพทย์จะรู้ทันทีว่าส่วนใดของเนื้อเยื่อที่ควรตัดทิ้ง และต้องตัดออกมากแค่ไหน และส่วนใดที่ไม่ควรตัด เพื่อลดความเสียหายที่เกิดกับเนื้อเยื่อที่เเข็งเเรง
อายดิน ซาฮิดดิวาช กล่าวว่า ได้ทดสอบการใช้งานกับตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยที่ถูกตัดออกมา เเละได้ความเเม่นยำในการตรวจถึง 96 เปอร์เซ็นต์
เทคโนโลยีที่ทันสมัยหลายอย่างได้เอื้อให้ทีมแพทย์จากหลายสาขาพัฒนาปากกานี้ได้สำเร็จภายใน 2 ปีครึ่ง
อายดิน ซาฮิดดิวาช กล่าวว่า ทีมงานได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ เพื่อพิมพ์แบบจำลองของปากกาที่ช่วยให้พัฒนาแบบปากกาที่ใช้การได้ดีออกมาภายในเวลาอันรวดเร็ว
อายดิน ซาฮิดดิวาช กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ภายในเวลาหนึ่งปี ปากกามาสสเปคเพน จะถูกนำไปทดสอบในการผ่าตัดที่ภาควิชาการแพทย์ ในมหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส ในเมืองออสติน และยังมีแผนที่จะนำไปทดสอบการใช้งานที่ศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน เเละภาควิชาการแพทย์เบเยอร์ ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส อีกด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)