อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน
คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา ประกาศเมื่อวันเสาร์ว่า พรรคเอ็นแอลดีคือผู้กวาดที่นั่ง 396 ที่นั่งจากทั้งหมด 498 ที่นั่งในรัฐสภาเมียนมา ซึ่งมากกว่าจำนวนที่นั่งที่พรรคเอ็นแอลดีได้เมื่อการเลือกตั้ง 5 ปีที่แล้ว 9 ที่นั่ง และทำให้พรรคที่มีนางซูจีเป็นหัวหน้าพรรคนี้ สามารถครองเสียงส่วนใหญ่และจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องจำเป็นต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ชัยชนะอย่างถล่มทลายครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเชื่อมั่นที่ประชาชนเมียนมามีต่อการบริหารประเทศภายใต้การนำของนางซูจีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ศูนย์ติดตามการเลือกตั้ง Carter Center ในสหรัฐฯ ระบุว่า การเลือกตั้งในเมียนมาครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างขาวสะอาด แต่ก็มีการเลือกตั้งในบางพื้นที่ที่ต้องถูกยกเลิกเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของประชาชน สืบเนื่องจากการต่อสู้ระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ยังดำเนินต่อไป ครอบคลุมจำนวนที่นั่งในรัฐสภา 22 ที่นั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่พรรคของชนกลุ่มน้อยทำได้ดี
นอกจากนี้ มีรายงานว่าชาวมุสลิมโรฮีนจาหลายแสนคนถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้งเนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมืองเมียนมา แม้ว่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมียนมามานานหลายชั่วอายุคน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ แสดงความกังวลต่อการยกเลิกการเลือกตั้งในบางพื้นที่และการตัดสิทธิ์ชาวโรฮีนจา รวมทั้งการกันที่นั่งส่วนหนึ่งไว้ให้กับทหาร แต่ก็ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา
SEE ALSO: 'พรรคนางซูจี' กล่าวอ้างชัยชนะเลือกตั้งเมียนมา ครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา
ที่ผ่านมามีการคาดหมายว่าพรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไม่ยากเย็นนัก ด้วยความนิยมของประชาชนที่มีต่อนางออง ซาน ซูจี ซึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลเมียนมาภายใต้ชื่อตำแหน่ง "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015
ผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของซูจีมีทั้งในด้านบวกและลบปะปนกัน กล่าวคือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สูงอย่างที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยยังคงดำเนินต่อไป
นอกจากนี้นางซูจียังถูกวิจารณ์จากนานาชาติในเรื่องความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ สืบเนื่องจากการปราบปรามครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮีนจาหลายแสนคนเมื่อปี ค.ศ. 2017
ถึงกระนั้น ดูเหมือนประเด็นดังกล่าวมิได้ทำให้ความนิยมในตัวนางซูจีในหมู่ประชาชนชาวเมียนมา ลดน้อยลงแต่อย่างใด เมื่อเธอแสดงบทบาทผู้นำอย่างแข็งขันในการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา