ตรวจสอบข่าว: สหรัฐฯ ไฟเขียวผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายซื้ออาวุธปืนได้อย่างอิสระ จริงหรือไม่

แฟ้มภาพ - เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายาหนึ่งเดินผ่านด้านหน้าของสำนักงานใหญ่ของ สำนักงานกำกับดูแลแอลกอฮอล์ ยาสูบ อาวุธปืนและวัตถุระเบิด ในกรุงวอชิงตัน เมื่อ 23 ม.ค. 2557

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวว่า สำนักงานกำกับดูแลแอลกอฮอล์ ยาสูบ อาวุธปืนและวัตถุระเบิด (Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives – ATF) ซึ่งอยู่ใต้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ปรับปรุงนโยบายการตรวจสอบประวัติของผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของอาวุธปืนในสหรัฐฯ โดยถูกกฎหมายที่มีการอ้างว่า เปิดทางให้แม้แต่ผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายซื้อปืนได้แล้ว

เอพีทำการตรวจสอบและประเมินข้อมูลต่าง ๆ แล้วพบว่า ATF ไม่ได้มีการปรับปรุงนโยบายใด ๆ และโฆษกของหน่วยงานนี้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายซื้อหรือเป็นเจ้าของอาวุธปืน แต่ก็มี “ข้อยกเว้นที่จำกัด” อยู่ ขณะที่ ATF เองก็ไม่มีอำนาจที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายรัฐบาลกลางเลย แต่มีหน้าที่บังคับใช้เท่านั้น

การตรวจสอบของเอพียังพบด้วยว่า ขณะที่ ฝ่ายพรรครีพับลิกันกล่าวหาว่า นโยบายตรวจคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คือ สาเหตุของการสังหารนักศึกษาพยาบาลรายหนึ่งในรัฐจอร์เจียเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลายคนก็ออกมากล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ATF ทำให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาอาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายสามารถครอบครองอาวุธปืนร้ายแรงบางอย่างได้ง่ายกว่าที่เคย

รายงานข่าวระบุว่า ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบโพสต์จำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งรวมถึงโพสต์ชิ้นหนึ่งที่เป็นคลิปวิดีโอของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า สามีของเธอที่เป็นเจ้าของร้ายขายปืน บอกกับเธอว่า “ATF ปรับปรุงนโยบายตรวจสอบประวัติให้มีผลบังคับใช้วันนี้ พวกเขาทำการยกเว้นให้กับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้สามารถหาซื้ออาวุธปืนได้”

ส่วนโพสต์อีกชิ้นทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ที่แชร์คลิปวิดีโอดังกล่าวได้รับการกดไลค์ (like) และถูกนำไปแชร์ต่อถึงกว่า 5,700 ครั้ง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การตรวจสอบยืนยันได้ว่า ATF ไม่ได้ปรับปรุงนโยบายใด ๆ เลย เนื่องจากไม่มีอำนาจที่จะกระทำการเช่นนั้น

คริสตินา มาสโตรพาสควา โฆษกของ ATF ระบุในอีเมลที่ส่งถึงเอพีว่า “เป็นการผิดกฎหมายที่ใครก็ตามซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายจะหาซื้อหรือเป็นเจ้าของอาวุธปืน” และว่า “มีข้อยกเว้นที่จำกัดสำหรับคำสั่งห้ามเหล่านี้ที่เปิดทางให้มีการเข้าครอบครองอาวุธปืนที่ออกโดยหรือใช้งานโดยหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ หรือรัฐบาลกลาง”

มาสโตรพาสควา ยังกล่าวด้วยว่า “กฎหมายรัฐบาลกลางที่กำกับดูแลการซื้อและขายอาวุธปืนก็คือ กฎหมายควบคุมปืน (Gun Control Act) และกฎหมายอาวุธปืนแห่งชาติ (National Firearms Act) [โดย] ATF บังคับใช้ข้อบังคับเหล่านี้ตามที่บัญญัติโดยคองเกรส … ATF ไม่ได้ร่างหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย บทบาทที่ว่าถูกสงวนไว้ให้คองเกรส [และ] อาจมีการบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นหรือกฎหมายรัฐในการขายหรือซื้ออาวุธปืนได้ โดยขึ้นอยู่กับขอบเขตของกระบวนการยุติธรรมที่ควบคุมอยู่”

กฎหมายควบคุมปืน ซึ่งถูกผ่านออกมาใช้งานในปี 1968 สั่งห้ามตัวแทนจำหน่ายปืนที่ได้รับใบอนุญาตขายอาวุธปืนให้กับผู้ใดก็ตามที่ “อยู่ในสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นอกจากนั้น กฎเกณฑ์ของ ATF ยังสรุปความวิธีที่หน่วยงานจะบังคับใช้กฎหมายรัฐบาลกลางนี้ที่ตนเองก็ไม่มีอำนาจแก้ไขด้วย

กฎเกณฑ์ที่ว่า ซึ่งรวมความถึงการตรวจสอบประวัติด้วย ไม่ได้พูดถึงข้อยกเว้นใด ๆ ของกฎหมายรัฐบาลกลางที่อนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายซื้ออาวุธปืนเลย

เคียร์สตัน คอนลีย์ โฆษกของสำนักงานยุติธรรมทางอาญารัฐนิวยอร์ก (New York State Division of Criminal Justice Services) บอกกับเอพีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐนี้ “ต้องเป็นพลเมืองสหรัฐฯ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1909 แล้ว

ส่วนในรัฐแคลิฟอร์เนีย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องได้รับเอกสารอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐฯ ภายใต้อำนาจของกฎหมายรัฐบาลกลาง อ้างอิงข้อมูลจาก เมแกน พูโลส โฆษกคณะกรรมาธิการฝึกอบรมและควบคุมมาตรฐานเจ้าหน้าที่รักษาความสงบรัฐแคลิฟอร์เนีย (the California Commission on Peace Officer Standards and Training) โดยเงื่อนไขที่ว่าตำรวจต้องเป็นพลเมืองสหรัฐฯ นั้นถูกถอดไปภายใต้กฎหมายที่ผ่านออกมาใช้งานเมื่อปี 2022 นี่เอง

ขณะเดียวกัน กรมตำรวจนครชิคาโกยืนยันว่า มีประกาศข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจบนเว็บไซต์ของตนแล้ว และมีการระบุเงื่อนไขว่า ผู้ที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ หรือผู้ที่มีสิทธิ์พำนักอาศัยในสหรัฐฯ โดยถูกกฎหมายล้วนสามารถสมัครเป็นตำรวจได้ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์นี้ชี้ว่า กฎหมายที่ผ่านออกมาใช้งานในปี 2023 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา “อาจเปิดทางในอนาคตให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองบางกลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงานให้ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้” เช่นเดียวกับที่กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียทำไปเมื่อปีที่แล้ว

เลเคน โฮป ไรลีย์ นักศึกษาพยาบาลวัย 22 ปี ถูกพบว่านอนเสียชีวิตใกล้ ๆ เส้นทางวิ่งในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจีย (University of Georgia) เมื่อเดือนที่แล้ว และ โฮเซ อิบาร์รา ชาวเวเนซุเอลา คือ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายนักศึกษาสาวผู้นั้น โดยอิบาร์รานั้นเคยถูกจับกุมแล้ว 1 ครั้งในเดือนกันยายน ปี 2022 ใกล้ ๆ เมืองเอลปาโซ รัฐเท็กซัส ในช่วงที่มีอัตราการหลั่งไหลเข้าประเทศของผู้อพยพที่สูงเป็นประวัติการณ์ ก่อนที่เขาจะถูกปล่อยตัวให้ไปถูกดำเนินคดีในข้อหาว่าด้วยการหลบหนีเข้าเมืองในชั้นศาล ตามรายงานของเอพี

เอพีรายงานด้วยว่า ไม่มีความชัดเจนว่า อิบาร์รา ยื่นเรื่องขอลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ หรือไม่ ขณะที่ เจ้าหน้าที่สืบสวนรัฐบาลกลางกล่าวว่า ผู้ต้องหารายนี้ถูกจับกุมโดยตำรวจนิวยอร์กเมื่อเดือนสิงหาคมในข้อหาทำให้เด็กตกอยู่ในอันตรายก่อนจะถูกปล่อยตัวไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐนิวยอร์กบอกกับผู้สื่อข่าวไม่กี่วันก่อนรายงานฉบับนี้จะถูกเผยแพร่ออกมาว่า ไม่มีบันทึกประวัติการจับกุมอิบาร์ราเลย

อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันกล่าวโทษนโยบายตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาลไบเดนว่า เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของไรลีย์ และสมาชิกสภารัฐจอร์เจียก็พยายามเดินหน้าผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับให้สถานีตำรวจและสำนักงานเชอริฟฟ์ทุกแห่งที่มีอำนาจช่วยตามชี้ตัวผู้อพยพเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย และทำการจับกุม รวมทั้งคุมขังทุกรายเพื่อส่งตัวกลับประเทศอยู่

  • ที่มา: เอพี