เอเชียกังวลนโยบายการค้าสหรัฐฯ หลัง "ปธน.ทรัมป์" ระบุรายชื่อประเทศเอาเปรียบดุลการค้า รวมทั้งไทย

Your browser doesn’t support HTML5

Asia Trade

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังขุ่นมัว หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะมีการตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งมีชื่อของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย จนก่อให้เกิดความกังวลต่อนโยบายการค้าของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ

รมต.พาณิชย์สหรัฐฯ Wilbur Ross กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นที่การลดยอดขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ และสร้างบรรยากาศการค้าที่เสรีและยุติธรรม เพื่อปกป้องคนอเมริกันและพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะใช้เวลา 90 วันในการตรวจสอบเกี่ยวกับการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ ต่อหลายประเทศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าจะกำจัดการเอาเปรียบและการคดโกงทางการค้าต่อสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในด้านนโยบายการค้าของอเมริกา

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การตรวจสอบครั้งนี้อาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าครั้งสำคัญ ระหว่างประเทศในเอเชียกับอเมริกา

โดยรายชื่อประเทศแถบเอเชียที่ ปธน.ทรัมป์ ระบุว่าเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐฯ นั้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ มาเลเซีย อินเดีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย

FILE - A tug boat goes by the pier of a container terminal in Tokyo, Jan. 25, 2017. Talk of a possible 20 percent tax on U.S. imports from Mexico is raising eyebrows in Asia, where exports to the U.S. drive growth in many economies.

การค้าระหว่างอเมริกากับประเทศเหล่านี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่น ที่ได้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังจากที่เป็นผู้แพ้สงคราม จากนั้นประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ก็ต่างมุ่งมองไปยังตลาดอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง จนมาถึงในยุคของจีนที่ได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลต่อสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาล ปธน.ทรัมป์ ดูเหมือนประเทศจากทางเอเชียเหล่านี้กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำลายเศรษฐกิจอเมริกัน

คุณ Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์ Capital Economics ในสิงคโปร์ เชื่อว่าข้อกล่าวหาและการตรวจสอบของรัฐบาลอเมริกัน ได้ทำให้เกิดความไม่สบายใจไปทั่วเอเชีย

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า “ดูเหมือนประเทศที่เป็นกังวลต่อนโยบายของ ปธน.ทรัมป์ มากที่สุดในขณะนี้ ก็คือเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่อาจถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่าเป็นผู้บงการค่าเงิน ทำให้ค่าเงินของตนต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อผลประโยชน์ด้านการส่งออกสินค้า”

แต่ทางการไต้หวันได้ออกมาแก้ต่างว่า การค้าระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ นั้นอยู่ภายใต้หลักผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

President-elect Donald Trump speaks with reporters in the lobby of Trump Tower in New York. Trump has offered views on U.S. relations with Asia that could indicate radical shifts in long-standing policy toward the region.

คุณ Krystal Tan เชื่อว่า สิ่งที่ทางการไต้หวันและเกาหลีใต้หวั่นเกรงมากที่สุด คือมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ ที่อาจตามมาหลังการประกาศว่าทั้งสองประเทศเป็นผู้บงการค่าเงิน และเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษดังกล่าว สองประเทศนี้อาจต้องยอมเปิดตลาดรับสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น

ด้านกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า มาเลเซียไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และไม่เคยเอาเปรียบด้านการค้าต่อสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษต่อมาเลเซียจริง บริษัทอเมริกันในมาเลเซียเอง เช่น Intel และ Western Digital จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด

คุณ Peck Boon Soon นักเศรษฐศาสตร์จาก RHB Research ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า "ขณะนี้ภาคธุรกิจของมาเลเซียกำลังจับตามองนโยบายการค้าของรัฐบาล ปธน.ทรัมป์ อย่างใกล้ชิด"

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันอเมริกาถือเป็นคู่ค้าอันดับสามของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 36,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ในจำนวนนี้กว่า 60% เป็นการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐฯ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 12,400 ล้านดอลลาร์

โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดอเมริกามากที่สุด คือ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ยาง และอัญมณีต่างๆ

Laborers work at a garment factory in Bac Giang province, near Hanoi, Vietnam, Oct. 21, 2015.

ในส่วนของเวียดนาม เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นายกฯ เวียดนาม ได้กล่าววิจารณ์การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้าของ ปธน.ทรัมป์ โดยเฉพาะการถอนตัวจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เวียดนามเข้าร่วมด้วย ว่าส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการส่งออกของเวียดนาม

อาจารย์ Carl Thayer นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย ระบุว่า "ที่ผ่านมาเวียดนามต้องการอาศัยสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เวียดนามตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลง TPP แต่หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัว เวียดนามจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่"

อาจารย์ Thayer เชื่อว่า เวลานี้เวียดนามจำเป็นต้องรักษาสมดุลของ 5 ฝ่าย คือนอกจากจีนและสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น

แต่ในขณะที่อิทธิพลของอเมริกากำลังอ่อนแอลงในเอเชีย ประกอบกับท่าทีที่ไม่แน่นอนของรัฐบาล ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นไปได้ว่าเวียดนามจะถูกดึงเข้าไปใกล้จีนมากขึ้น รวมถึงการจำใจเข้าร่วมในข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่มีจีนเป็นผู้ผลักดันด้วย

(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)