ประเทศในเอเชียให้ความสำคัญเรื่อง 'เศรษฐกิจและการค้า' มากกว่า 'สิทธิมนุษยชน'

Leaders from the ASEAN and their Dialogue Partners which comprises the East Asia Summit or EAS, link hands for a brief group photo session at the ongoing 31st ASEAN Summit November 14, 2017 in Manila, Philippines.

วิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์หรือสิทธิของชาวโรฮิงจะ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการประชุมสุดยอดของอาเซียน

Your browser doesn’t support HTML5

ประเทศในเอเชียให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจและการค้ามากกว่าสิทธิมนุษยชน

ระหว่างการประชุมสุดยอดของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศที่ฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเด็นเฉพาะซึ่งเป็นเรื่องร้อนภายในประเทศ เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติดและวิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงจะ ในเมียนมาร์ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นเจรจาโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ

แต่ในทางตรงข้าม กลุ่มประเทศอาเซียนมุ่งให้ความสนใจกับเรื่องการค้าและการลงทุนมากกว่า

โดยปกติแล้วสมาชิกของสมาคมอาเซียนมักมีนโยบายไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

อาจารย์ Daniel Chau รองผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาของ S. Rajaratnam School of International Studies ที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศในเอเชียโดยรวมมักไม่นำเรื่องโครงการเศรษฐกิจเข้าไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับกิจการภายในประเทศ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

และนโยบายการไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในนี้ช่วยให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย สามารถมุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกริ่งเกรงใจว่า จะต้องมีการสนทนานอกรอบเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงาน หรือสิ่งแวดล้อม กับผู้นำประเทศตะวันตกในภายหลัง

ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ คือแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อตกลงการค้าเสรี RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ที่จะผูกพันสมาชิกของอาเซียนกับหกประเทศคู่เจรจา คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันราวครึ่งหนึ่งของโลก และสามารถมุ่งเน้นที่เนื้อหาเรื่องเศรษฐกิจและการค้าโดยเฉพาะ โดยไม่มีการกล่าวถึงประเด็นด้านแรงงานสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

ข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ที่มีสมาคมอาเซียนเป็นผู้นำการเจรจาดังกล่าวนี้ ถือเป็นทางเลือกหรือคำตอบสำหรับข้อตกลงการค้า TPP ที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศถอนตัวออกไป

ทางด้านอาจารย์ Daniel Chau จาก S. Rajaratnam School of International Studies ก็ชี้ด้วยว่า การที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่งจะได้เอกราชจากสหรัฐฯ หรือยุโรปในช่วง 60 ถึง 70 ปีหลังนี้ ทำให้การปกป้องอธิปไตยและความรู้สึกเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ส่วนคุณ Jayant Menon หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ก็บอกว่า ประเด็นเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นยังนับว่าค่อนข้างใหม่สำหรับเอเชีย เมื่อเทียบกับการรวมตัวอย่างเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรป

ดังนั้นสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว การเปิดพรมแดนเพื่อรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นจึงมักถูกมองในฐานะหนทางมากกว่าเป้าหมาย คือเป็นการรวมตัวกันเปิดเขตเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนจากภายนอกมากกว่า