Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลื่นความร้อนที่กำลังประสบกันในขณะนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด ในแง่ของระยะเวลา ความเข้ม และบริเวณที่ได้รับความกระทบกระเทือน โดยเฉพาะประเทศไทย ลาว และกัมพูชา
จัดเข้ากลุ่มคลื่นความร้อนรุนแรงที่สุด เทียบเท่ากับของปี ค.ศ. 1960, 1983 และ 1998
คลื่นความร้อนในปีที่แล้วที่อินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2,422 คน ตามสถิติของทางการอินเดีย ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนไปแล้วมากกว่า 150 คน และเกรงกันว่า ความร้อนที่กำลังแผ่ปกคลุมไปทั่วเอเชีย จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นไปด้วย
ความร้อนไม่ได้เป็นภัยต่อผู้คนเท่านั้น แต่ยังทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารและปศุสัตว์ด้วย
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา รัฐมหาราชตระประสบความแห้งแล้งร้ายแรง ซึ่งทำลายทั้งพืชพันธุ์และสัตว์เลี้ยง อ่างเก็บน้ำแห้งเหือด รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเขื่อนกั้นน้ำพลังไฟฟ้า และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำ
ในมาเลเซีย รัฐบาลต้องปิดโรงเรียน และชาวไร่ชาวนาสูญเสียผลผลิต
สำหรับประเทศไทย คาดกันว่าผลผลิตข้าวจะลดลงมาก
ส่วนที่เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับที่สองของโลก ความแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตกาแฟอย่างหนักในช่วง 30 ปีมานี้
ศาสตราจารย์ Jin Yi Yu ที่คณะวิทยาศาสตร์โลก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขต Irvine ให้คำอธิบายผลกระทบทางภูมิอากาศในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรียกว่า “El Nino” ว่ามาจากการที่ความร้อนที่ผิวน้ำทะเลสูงขึ้น และกีดกั้นการระเหยของน้ำขึ้นสู่บรรยากาศข้างบน ซึ่งทำให้เกิดฝนแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้บอกกับ VOA ว่า ปรากฏการณ์ “El Nino” กำลังลดความเข้มลง และจะสลายตัวไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ด้านคุณ Blair Terwin หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานสภาพภูมิอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดว่าจะจะมีการเปลี่ยนไปสู่สภาพอากาศที่เรียกว่า “La Nina” อย่างรวดเร็วในสองสามเดือนข้างหน้า
และว่า “La Nina” มักจะพาฝนมาให้บริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปกติ
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์บางรายไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลของการเพิ่มอุณหภูมิในบรรยากาศห่อหุ้มโลกหรือไม่ เพราะตัวเลขที่จะนำมาวิเคราะห์ค่อนข้างจำกัด
ที่รัฐโอริสสาในอินเดีย อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 48.5 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 24 เมษายน จังหวัดพระวิหารในกัมพูชา 42.6 องศาเซลเซียสในวันที่ 15 เมษายน และหลายเมืองในพม่า อุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส
ส่วนดัชนี UV หรือ Ultra Violet ที่กรุงเทพมหานคร กรุงมะนิลา และนครมุมไบ ขึ้นไปถึงระดับ 12 เป็นเวลาหลายวันในสัปดาห์นี้ เหนือขีดจำกัดสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ระดับ 11
ดังนั้นจึงควรรับฟังคำเตือนของนักพยากรณ์อากาศที่ขอให้ใช้ครีมกันแดดเวลาออกนอกบ้านกันด้วย